ระฆังสิ้นเสียงแน่ "โรงเรียนวรรณวิทย์" สช.หา ร.ร.ให้เด็ก-จ่ายชดเชยให้ครู
กระทรวงศึกษาธิการยื่นมือช่วย "โรงเรียนวรรณวิทย์" พร้อมหาโรงเรียนใหม่รองรับเด็ก 146 คน เตรียมจ่ายชดเชยให้ครู ยืนยันต้องปิดตัวแน่นอน เผย 3 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนขอปิดตัวไป 148 แห่ง เหตุเด็กน้อยลง เจอวิกฤตโควิด
ดร. พีรศักดิ์ รัตนะ เลขาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ "โรงเรียนวรรณวิทย์" ประกาศปิดการเรียน-การสอน เนื่องจากประสบกับสภาวะขาดทุน นักเรียนน้อยลง ดังนั้นวันนี้ สช. จึงลงพื้นที่ เพื่อที่ให้กำลังใจบุคลากรครูและนักเรียน รวมทั้งเข้ามาตรวจสอบและหารือกับทางโรงเรียนว่าต้องการความช่วยเหลือในเบื้องต้นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตามจากการสอบถามและหารือกับผู้บริหาร ยืนยันว่าจะต้องเลิกกิจการอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้มีนักเรียนน้อยลง กว่าที่ผ่านมา จากปกติ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เคยมีนักเรียนมากที่สุดประมาณ 1,000 กว่าคน ขณะนี้เหลือนักเรียนเพียง 146 คนเท่านั้น ประกอบกับสถานการณ์จำนวนประชากรวัยเรียนของประเทศไทย และชุมชนโดยรอบโรงเรียน ลดลง อย่างต่อเนื่อง โรงเรียนเกิดภาวะการขาดทุน แม้ว่า "โรงเรียนวรรณวิทย์" จะได้รับเงินอุดหนุนรายบุคคลสำหรับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนจาก สช.ในอัตรา 70% หรือประมาณ 140,000 บาท แต่โรงเรียนยังจำเป็นต้องหารายได้เองอีก 30 % หรือประมาณ 160,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดโรงเรียนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ดร.พีรศักดิ์ กล่าวต่อว่า โดยมาตรการการช่วยเหลือ "โรงเรียนวรรณวิทย์" ของ สช. ในเบื้องต้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการช่วยเหลือนักเรียนที่ตกค้างอยู่ขณะนี้ และต้องเรียนต่อให้จบชั้นปีการศึกษา โดยนักเรียนชั้นมัธยมต้น ตั้งแต่มัธยมปีที่ 1-3 ทางสช. ได้ประสานไปยังโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เพื่อขอให้นักเรียนได้เข้าเรียนต่อ ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษา ได้มีการประสานโรงเรียนไว้ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสวัสดี โรงเรียนลุมพินี กทม. โรงเรียนสายน้ำทิพย์ เพื่อส่งต่อนักเรียนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ทาง "โรงเรียนวรรณวิทย์" และสช. จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็น และความสมัครใจของผู้ปกครองก่อนว่ามีความประสงค์จะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในโรงเรียนที่จัดหาไว้ให้หรือไม่ โดยเบื้องต้นจะมีการเรียนประชุมผู้ปกครองในวันพรุ่งนี้
ด้านมาตรการการช่วยเหลือบุคลากรครู โดยปกติแล้ว สช.จะมี กองทุนเพื่อสงเคราะห์ผู้อำนวยการ ครุและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งครูจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเป็นประจำอยู่แล้ว เบื้องต้นกองทุนจะดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้ครูทีได้รับผลกระทบ 3% ของเงินเดือน และรัฐจะช่วยอีก 6 % ของเงินเดือน รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 12 % ของเงินเดือนที่ครูจะได้รับ
ทั้งนี้ยืนยันว่า สช.จะให้ความช่วยเหลือทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียนวรรณวิทย์ในครั้งนี้อย่าครบถ้วน
อัตราการปิดตัวของโรงเรียนเอกชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ดร. พีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามไม่ได้มีแค่ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เท่านั้นที่ขอปิดกิจการ จากข้อมูลพบว่า ขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนในสังกัด สช. อยู่ประมาณ 3,989 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมามีโรงเรียนเอกชนยื่นของปิดกิจการกับ สช. ในช่วง 3 ปี ประมาณ 148 แห่ง
โดยแบงเป็นการยื่นของปิดกิจการในปี 2562 จำนวน 32 แห่ง ปี 2563 จำนวน 53 แห่ง และปี 2564 จำนวน 63 แห่ง
ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการที่ยื่นขอเปิดโรงเรียนในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาประมาณ 140 แห่ง แบ่งเป็นปี 2562 จำนวน 54 แห่ง ปี 2563 จำนวน 50 แห่ง และปี 2564 จำนวน 36แห่ง
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศของสช.ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น สช.จะให้การช่วยเหลือผ่านกองทุน โดยจะให้โรงเรียนเอกชนขอกู้เงินได้ประมาณ 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2 % หากโรงเรียนยังไม่สามารถผ่อนชำระคืนได้ในระยะเวลาที่กำหนด ทางสช. จะอนุญาตผ่อนผันการชำระหนี้ออกไปก่อนจนกว่าจะมีความพร้อม โดยขณะมีโรงเรียนเอกชนที่ขอยื่นกูไปแล้วกว่า 451 แห่ง
อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เกิดการปิดตัวของโรงเรียนเอกชนไปนั้น คาดการณ์ว่าจะไม่กระทบต่อจำนวนเด็กนักเรียน เนื่องจากข้อมูลระบุว่าอัตราประชากรวัยเรียนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประสบปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้โรงเรียนรัฐมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น หรือโรงเรียนเอกชนบางแห่งมีความพร้อมที่จะรองรับนักเรียนเพียงพอ แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ โรงเรียนเอกชนจะต้องพัฒนาคุณภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองเลือกที่จะส่งบุตรหลานมาเรียน