ครม.เคาะ เพิ่มไก่และเนื้อไก่เป็น "สินค้าควบคุม" ปี 2565 รวม 5 รายการ
ครม.เคาะ ไก่และเนื้อไก่เป็น "สินค้าควบคุม" ปี 65 ห้ามขึ้นราคา คุมเข้ม ผู้เลี้ยงไก่ต้องแจ้งปริมาณสต็อก พร้อม เช็คลิสต์สินค้าควบคุม 56 รายการมีอะไรบ้าง
ครม.เคาะ ไก่และเนื้อไก่เป็น "สินค้าควบคุม" ปี 65 ห้ามขึ้นราคา คุมเข้ม ผู้เลี้ยงไก่ต้องแจ้งปริมาณสต็อก พร้อม เช็คลิสต์สินค้าควบคุม 56 รายการมีอะไรบ้าง
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบกำหนด "สินค้าควบคุม" ปี 2565 จำนวน 5 รายการ ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ โดยแบ่งเป็นรายการสินค้าควบคุมเดิมในปี 2564 จำนวน 4 รายการ
คือ
1.หน้ากากอนามัย
2.ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย
3.ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ
4.เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก
และเพิ่มเติมรายการ "สินค้าควบคุม" ใหม่ 1 รายการ คือ ไก่ เนื้อไก่ เนื่องจากปัจจุบันราคาไก่ปรับตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล ติดตามไก่ เนื้อไก่ ให้มีปริมาณเพียงพอและมีราคาที่เหมาะสม ทำให้ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศรายการสินค้าและบริการควบคุมไปแล้วรวมครั้งนี้จะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 56 รายการ (จากเดิม 51 รายการ) เช่น ไข่ไก่ หมูและเนื้อหมู แชมพู ผงซักฟอก ข้าวสาร กระเทียม อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องแบบนักเรียน ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคา "สินค้าควบคุม" และบริการ กำหนดให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ดังนี้ 1.ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต็อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน 2.โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต็อก และ 3.การปรับราคาสินค้า จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน
นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์สินค้าบางตัวที่มีการปรับราคาสูงขึ้น รัฐบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการในการรักษาระดับราคาในรูปแบบที่สร้างสมดุลระหว่างการให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้นเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นแก่เกษตรกร แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น จะต้องไม่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบ เช่น การตรึงราคาสินค้า
โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ประสานกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ค้าและสมาคมต่างๆ ตรึงราคาในหลายหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอสปรุงรส บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม นอกจากนี้ ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศตรึงราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ กิโลกรัมละ 110 บาท ไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลตรุษจีน และทางสมาคมผู้เลี้ยงและส่งออกไข่ไก่ พร้อมให้ความร่วมมือตรึงราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ไว้ที่ฟองละ 2.90 บาท เป็นต้น
ในขณะเดียวกันราคาเนื้อหมู ไข่ไก่ และผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักคะน้า ผักบุ้งจีน กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ตามรายงานของสถานการณ์สินค้าเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (17 - 24 มกราคม 2565) อยู่ในระดับที่ทรงตัว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะดำเนินการในทุกทางที่จะเป็นการดูแลพี่น้องประชาชน บางมาตรการอาจะต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล ตัวอย่างเช่น เรื่องหมูแพง ก็มีหลายมาตรการออกมา
ประกอบด้วย
1.งดส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลาสามเดือน
2. ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์แก่เกษตรกร
3. สถาบันการเงินจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่
4. ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุน
5. เพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน
6. ส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
7. เร่งศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคระบาด
8. ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด
9. ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรค