อุทธรณ์ยืน "ยกฟ้อง" กองทัพบก คดียิง "ชัยภูมิ ป่าแส" ญาติเดินหน้าสู้ถึงฎีกา
ศาลอุทธรณ์ ยืน "ยกฟ้อง" คดีครอบครัว “ชัยภูมิ ป่าแส” เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ฟ้อง "กองทัพบก" ไม้ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ชี้เป็นการป้องกันตัว
26 ม.ค.2565 ที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยยืนตามศาลชั้นต้นคือ ยกฟ้อง คดี "ครอบชัยภูมิ ป่าแสฟ้องกองทัพบก" จากกรณีที่ครอบครัวของนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ เรียกร้องค่าเสียหายจากกองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ทำหน้าที่ทหารประจำด่านตรวจรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่วิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560
โดยมีทนายรัษฎา มนูรัษฎา และ นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ดูแลคดีครอบครัวนายชัยภูมิ ป่าแส ในฐานะทนายความโจทก์ และวันนี้มีนางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ด้วย
โดยศาลใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ในการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และพิจารณายกฟ้อง ยืนตามศาลชั้นต้น
นายรัษฎา กล่าวภายหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องว่า ทางทนายความเคารพคำตัดสินของศาลแต่ก็มีประเด็นที่ติดใจและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นกล้องวงจรปิดพี่ศาลไม่ให้ความสำคัญ แต่ให้น้ำหนักพยานบุคคล และศาลเห็นว่า กระสุนจากอาวุธสงครามของทหาร ที่ยิงเข้าต้นแขนและทะลุซี่โครงนายชัยภูมิ เป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตนั้นเป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้เป็นการวิสามัญฆาตกรรม รวมถึงกรณีการพิสูจน์ DNA ของนายชัยภูมิ บนวัตถุระเบิด ซึ่งยังมีข้อกังขาอยู่
นายรัษฎา เปิดเผยว่า ทางทนายความจะปรึกษาทางครอบครัวนายชัยภูมิและเห็นว่าต้องต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยจะยื่นศาลแพ่งต่อไป ซึ่งลักษณะของคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกฟ้องนั้น มีกระบวนการที่จะต้องให้ผู้พิพากษาที่นั่งบัลลังก์หรือตัดสินในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์หรือทั้ง 2 ศาลที่ยกฟ้องคดีไปนั้น "รับรองว่าคดีนี้มีปัญหาสำคัญอันควรเข้าสู่การพิจารณาของศาลสูงหรือศาลฎีกา" ตามกระบวนการ ซึ่งฝ่ายโจทก์ จะดำเนินการหลังจากนี้
ด้าน นางสาวจันทร์จิรา กล่าวว่า จากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีนี้ ตามรายละเอียดที่ศาลพิจารณายังมีประเด็นที่น่ากังวลและตั้งคำถาม โดยเฉพาะในส่วนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกแล้วไม่มีกล้องวงจรปิดยืนยัน ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ส่วนในกรณีของนายชัยภูมินี้ทหารระดับปฏิบัติยืนยันชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาให้สั่งทำสำเนาและสั่งลบภาพกล้องวงจรปิด ซึ่งน่าจะเรียกสำเนากล้องวงจรปิดมาได้แต่ศาลไม่รับพิจารณาแต่ให้น้ำหนักเพียงพยานบุคคล ซึ่งมีคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานบุคคลกับภาพจากกล้องวงจรปิดด้วย
อีกทั้งการพิสูจน์ DNA นั้นพบว่า DNA ของนายชัยภูมิ อยู่ในวัตถุระเบิด แต่ไม่ได้ระบุว่าพบ DNA ดังกล่าวเมื่อเกิดเหตุการณ์ ซึ่งเลือดของนายชัยภูมิสามารถกระเด็นใส่วัตถุระเบิดได้หรือยังมีข้อสงสัยว่าระเบิดเป็นของนายชัยภูมิจริงหรือไม่ด้วย และน่าเสียดายที่ศาลไม่พิสูจน์ลายนิ้วมือที่ด้ามจับระเบิดชนิดดังกล่าว ซึ่งปกติจะต้องดึงชนวนแล้วก็ขว้าง ถึงไม่สามารถเห็นด้วยกับการตัดสินของศาลได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว