ข่าว

คปภ.ถกด่วน "อาคเนย์ประกันภัย"  ขอเลิกกิจการ "เจอ จ่าย จบ" ทำขาดทุน 9,900 ล้าน

คปภ.ถกด่วน "อาคเนย์ประกันภัย" ขอเลิกกิจการ "เจอ จ่าย จบ" ทำขาดทุน 9,900 ล้าน

27 ม.ค. 2565

คปภ. ถกด่วน เหตุ "อาคเนย์ประกันภัย" ขอยกเลิกกิจการขาดทุนจาก "เจอ จ่าย จบ" 9,900 ล้านบาท เร่งหาทางออกส่งต่อกรมธรรม์ที่ค้างอยู่ทั้งโควิด-อุบัติเหตุ

จากกรณีการขอยกเลิกกิจการของ "อาคเนย์ประกันภัย" เนื่องจากเกิการขาดทุนจากการประกันโควิด "เจอ จ่าย จบ" ส่งผลให้ขาดทุนกว่า 9,900 ล้าน และไม่สามารถดำเนินการกิจการต่อไปได้ ล่าสุดความเคลื่อนไหวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)   แจ้งว่า ในวันนี้ ( 27 ม.ค.) คณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย มีการพิจารณาคำขอของบริษัทอาคเนย์ ประกันภัยในการขอเลิกกิจการ และการส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ โดยจะพิจารณาแผนการคืนใบอนุญาตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการดูแลผลประโยชน์ของผู้เอาประกัน และผู้มีส่วนได้เสีย  รวมถึงดูว่าหากผู้เอาประกันไม่เห็นด้วย ที่จะรับคืนเบี้ยประกันคืน ทางบริษัทจะมีแผนดำเนินการอย่างไร 

 

และในวันที่ 28 ม.ค.นี้จะเสนอผลการประชุมให้ คณะกรรมการ คปภ.  ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน  พิจารณาคำขอการคืนใบอนุญาต  ซึ่งจะพิจารณามีสาระสำคัญตามมาตรา 57 ซึ่งระบุว่า บริษัทใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ.พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามจากกรณีการขอยกเลิกกิจการของ "อาคเนย์ประกันภัย" หรือบริษัทประกันอื่น ๆ นั้น คณะกรรมการ คปภ. มีอำนาจหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ซึ่งบริษัทจะต้องปฏิบัติให้แล้วเสร็จก่อนขอยกเลิกกิจการ เช่น  วิธีจัดการหรือการโอนภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีผลผูกพันอยู่ว่าจะมีผลอย่างไร รวมทั้งวิธีการบอกกล่าวให้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ และใช้สิทธิตามกฎหมาย การโอนหรือการขอรับเงินสำรองตามที่บริษัทวางไว้กับนายทะเบียน และการจัดการทรัพย์สิน และหนี้สิน ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการประกันวินาศภัย และกิจการที่ขออนุญาต เป็นต้น

หากบอร์ด คปภ.ไม่เห็นชอบแผน มีสิทธิไม่รับการขอเลิกกิจการจาก อาคเนย์ประกันภัยได้ ซึ่งจะทำให้การบอกเลิกกิจการนั้นยังไม่มีผลโดยสมบูรณ์ และจะต้องคุ้มครองสิทธิผู้เอาประกันอยู่จนกว่าจะได้รับอนุมัติจาก บอร์ด คปภ.

ทั้งนี้ คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย