เปิดเหตุ "อาคเนย์ประกันภัย" ขอปิดฉาก 76 ปี จากพันล้าน กลายเป็นศูนย์
เปิดเหตุ "อาคเนย์ประกันภัย" ขอปิดฉากความคุ้มครอง อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 76 ปี "เจอ จ่าย จบ" ทำพิษ จากพันล้าน กลายเป็นศูนย์ ล่มสลายภายในปีเดียว
“อาคเนย์ประกันภัย” บริษัทประกันภัยที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานถึง 76 ปี ด้วยการประเมิณสถานการณ์ที่ผิดพลาดของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส “โควิด-19” จึงทำให้หลายๆบริษัทประกันภัยได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และ มีอีกหลายบริษัทที่ต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถแบกรับการขาดทุนของประกัน “เจอ จ่าย จบ” ได้ เช่นเดียวกันกับ “อาคเนย์ประกันภัย” ที่ต้องปิดตัวลงในสถานการณ์นี้ โดยเพจเฟซบุ๊ก ลงทุนแมน ได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์นี้ว่า
ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทประกันภัยที่ทำธุรกิจมา 76 ปี
คนที่ซื้อประกันรายแรกของบริษัทเราคือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
บริษัทมีกำไรสะสมเรื่อยมาจนมีทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท สามารถรับประกันได้เบี้ยปีละ 10,000 ล้านบาท
ในปีที่ผ่านมา บริษัทนี้ออกประกันชนิดหนึ่ง โดยคำนวณจากอัตราส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งบริษัทก็คิดว่าน่าจะได้กำไรอยู่ไม่น้อย
และประกันชนิดนี้ก็มีคนสนใจมากเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้บริษัทนี้ขายประกันแก่ประชาชนได้ทั้งหมด 1.8 ล้านคน ถ้าคิดแบบง่าย ๆ ว่าค่าเบี้ยประกันกรมธรรม์ละ 500 บาท บริษัทนี้จะมีรายได้ 900 ล้านบาทเข้ามาทันที
แต่ใครจะไปคิดว่า เรื่องนี้จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดกาล ทุกอย่างที่บริษัทนี้สะสมมา หายไปในปีเดียว และมาวันนี้บริษัทนี้จะ “เลิกกิจการ" ประกันชนิดนี้ ผู้คนเรียกกันว่า “เจอ จ่าย จบ” แต่บริษัทที่จบในวันนี้คือ “อาคเนย์ประกันภัย”
โดยเช้าวันที่ 26 มกราคม 2565 มีจดหมายของ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอาคเนย์ประกันภัย แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ จดหมายมีความยาวประมาณ 4 หน้ากระดาษ
แต่ 4 หน้ากระดาษนี้กำลังจะเป็นข้อความปิดฉากของ "บริษัทอาคเนย์ประกันภัย"
โดยในจดหมายระบุว่าที่ผ่านมา จากปัญหาการกลายพันธุ์และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน และการดำรงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนของอาคเนย์ประกันภัยให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้
ซึ่งถ้าบริษัทประกอบธุรกิจต่อไปแล้วบริษัทไม่มีเงินมาจ่าย จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงจะขอเลิกกิจการตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า
โดยก่อนหน้านี้ "อาคเนย์ประกันภัย" มีเงินจากบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ (ซึ่งก็คือบริษัทของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี) มาเติมแล้ว ประมาณ 9,900 ล้านบาท โดยการเติมเงินนี้เป็นการสนับสนุนแบบฟรี ๆ ให้บริษัท ในรูปแบบประกันภัยรับต่อ โดยอาคเนย์จะส่งความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปเบิกเงินจากบริษัทไทยประกันภัยที่เป็นของคุณเจริญอีกที
นั่นหมายความว่า รายได้ที่ประมาณการไว้ว่า 900 ล้านบาท จริง ๆ แล้วมันมีความเสียหายไปแล้ว กว่า 9,900 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10 เท่าเลยทีเดียว
และที่ทุกคนยังเห็น "อาคเนย์ประกันภัย" ยังอยู่ได้ เพราะมีคุณเจริญเติมเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งถ้าเป็นผู้ถือหุ้นคนอื่นที่ไม่ได้เป็นเจ้าสัวแบบคุณเจริญ ก็คงปล่อยบริษัทล้มไปตั้งแต่แรก ๆ
แต่มาคราวนี้ คุณเจริญคงบอกว่า ไม่อยากฝืนแล้ว เพราะต้องจ่ายอีกมากเหลือเกิน จบแค่นี้ดีกว่า
ซึ่งสิ่งที่บริษัทบอกว่าจะทำต่อไปก็คือ จะเลิกกิจการแบบไม่ให้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง นั่นก็คือส่งมอบกรมธรรม์ที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งที่เกี่ยวกับโควิด และไม่เกี่ยวกับโควิด ให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นผู้มีอำนาจคืนเบี้ยให้กับผู้ทำประกัน หรือจัดหาผู้รับประกันรายใหม่แทน
โดยปัจจุบันมีผู้ถือกรมธรรม์ของอาคเนย์ประกันภัย แบ่งออกเป็น
- ผู้ถือกรมธรรม์โควิด 19 จำนวน 1,851,921 ราย
- ผู้ถือกรมธรรม์ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด 19 จำนวน 8,629,036 ราย
สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไป น่าสนใจ
เพราะก่อนหน้านี้ คปภ. บอกกับทุกบริษัทประกันภัยว่าไม่ให้บริษัทประกันภัยคืนเบี้ย ต้องรับประกันต่อให้จบ
แต่ถ้าในอนาคต คปภ. เข้ามาจัดการกรมธรรม์ของอาคเนย์ ด้วยการคืนเบี้ยกับผู้ทำประกัน ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า คปภ. จะกลืนน้ำลายตัวเองหรือไม่ ซึ่ง คปภ. คงไม่อยากเลือกทางเลือกนี้
ส่วนทางเลือกที่ คปภ. จะหาผู้รับประกันรายอื่นมารับกรมธรรม์ต่อ ก็คงไม่มีบริษัทประกันภัยรายไหน อยากมารับในส่วนกรมธรรม์โควิด 19 เพราะจะมีภาระค่าใช้จ่ายหนักแน่ ๆ
ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า คปภ. จะจัดการกรมธรรม์ทั้งหมดของอาคเนย์ประกันภัยอย่างไร
จะยังมีคดีความฟ้องร้องกันดุเดือดขนาดไหน
นอกจากนั้นเรื่องที่อาจจะไม่เหมือนข่าวลือในตอนแรกก็คือ คณะกรรมการมีมติไม่เห็นด้วยกับการโอนกิจการของ "อาคเนย์ประกันภัย" ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเห็นว่า มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และแนวทางของกองทุนประกันวินาศภัยอยู่แล้ว
แล้วถ้าอาคเนย์ประกันภัยเลิกกิจการ ใครจะได้รับผลกระทบบ้าง ?
- กลุ่มแรกคือ ผู้ถือกรมธรรม์ โควิด และไม่เกี่ยวกับโควิดทุกราย เป็นจำนวน “กว่า 10 ล้านราย”
- ต่อมาคือ คู่ค้าของอาคเนย์ประกันภัย เช่น อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทนนายหน้า 9,000 ราย ซึ่งจะได้รับการชำระเงินอย่างครบถ้วนหรือไม่ ต้องคอยติดตามกัน
- พนักงานอาคเนย์ประกันภัย 1,396 คน ซึ่งต้องคอยดูว่าจะได้รับการชดเชยอย่างไร
ซึ่งถ้าเราเป็นพนักงาน หรือเป็นคู่ค้าของอาคเนย์ประกันภัย สิ่งต่อไปที่เราต้องทำก็คือ “ควรติดตามอย่างใกล้ชิด” ว่าจะได้เงินที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัยจะต้องจ่ายเราครบถ้วนหรือไม่
ส่วนถ้าเราเป็นลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นการประกันที่เกี่ยวกับโควิด หรือไม่เกี่ยวกับโควิด สิ่งที่เราต้องรับรู้ไว้ก็คือ "อาคเนย์ประกันภัย" จะไม่ได้เป็นผู้รับประกันเรา อีกต่อไปแล้ว..
ทั้งนี้ยังมีข้อมูลจาก บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือกรรมธรรม์ Non Covid-19 เป็นจำนวน 8,629,036 ราย ซึ่งจะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วนหรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ส่วนผู้ถือกรมธรรม์ Covid-19 ที่มีจำนวน 1,851,921 ราย จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน
ทางด้านคู่ค้า เช่น อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล และ ตัวแทน กว่า 9,000 ราย จะได้รับชำระอย่างครบถ้วน หาก "อาคเนย์ประกันภัย" ยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน ส่วนพนักงานอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,396 คน จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามแผนงานการเลิกประกอบธุรกิจตาม คปภ. ให้ความเห็นชอบ
"บริษัทอาคเนย์ประกันภัย" ยังมีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระคืนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ได้ และยังมีสัดส่วนการดำรงเงินกองทุนที่ประมาณ 170%
ที่มา : เฟซบุ๊ก ลงทุนแมน