ข่าว

คณะทูตกลุ่มเบเนลักซ์พบทีมศก.ประชาธิปัตย์ขอแรงหนุนทำความตกลงFTAไทย-อียู

คณะทูตกลุ่มเบเนลักซ์พบทีมศก.ประชาธิปัตย์ขอแรงหนุนทำความตกลงFTAไทย-อียู

27 ม.ค. 2565

คณะทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์เดินสายเข้าพบทีมงานเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ ส่งสัญญาณให้ความสนใจในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวในการขับเคลื่อนนโยบายการจัดทำความตกลงทางการค้าเสรี ระหว่าง ไทย และยุโรป เริ่มมีการเดินสายของกลุ่มประเทศในยุโรปผ่านพรรคการเมืองไทย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา  คณะเอกอัครราชทูตจากกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ นาง Sibille de Cartier d’Yves เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย นาย Jean-Paul Senninger เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย และนาย Remco van Wijngaarden เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ได้ขอเข้าพบพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ กรรมการการต่างประเทศ และนายชาลา อนุสุริยา กรรมการการต่างประเทศ ให้การต้อนรับ ณ ที่ทำการพรรคฯ 

คณะทูตกลุ่มเบเนลักซ์พบทีมศก.ประชาธิปัตย์ขอแรงหนุนทำความตกลงFTAไทย-อียู

 

ในการเข้าพบครั้งนี้ มีประเด็นหารือครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความมั่นคง ในด้านเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสนใจในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู (FTA-Thai EU) ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าความท้าทายที่ประเทศไทยรวมถึงประเทศอื่น ๆ กำลังเผชิญอยู่ คือปัญหาเงินเฟ้อ ราคาข้าวของแพง และผลกระทบจากโควิดที่ยังคงอยู่ 

 

ในด้านความมั่นคง ได้มีการหารือเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และบทบาทของ ศอ.บต. รวมถึงแนวทางขับเคลื่อนในอนาคต ส่วนในด้านการเมือง ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้อธิบายให้คณะเอกอัครราชทูตเข้าใจถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

 

คณะเอกอัครราชทูตได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอยากที่จะเห็นประเทศไทยมีโครงการที่เป็นรูปธรรมที่จะดึงดูดนักลงทุน รวมถึงมีกรอบกฎหมายที่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ ณ วันนี้ สหภาพยุโรปเองก็มีโครงการ EU Indo-Pacific Strategy อยู่ ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์ที่เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่กีดกันหรือเลือกข้าง เป็นความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกประเทศในทุกระดับ

 

คณะทูตกลุ่มเบเนลักซ์พบทีมศก.ประชาธิปัตย์ขอแรงหนุนทำความตกลงFTAไทย-อียู

 

ทางพรรคฯ เห็นว่าหลายโครงการที่น่าจะเป็นประโยชน์คือ โครงการด้าน "Connectivity" หรือการเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งหมดในอาเซียนทั้งด้านลอจิสติกส์และการเงิน ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และประเทศในยุโรปสามารถที่จะเข้ามามีบทบาททั้งในด้านการเงิน เทคโนโลยีและทักษะพิเศษ เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วนในการสร้าง Connectivity ดังกล่าวได้