"ดร.ธรณ์" ระบุ "คราบน้ำมัน" หย่อมแรกอาจถึงชายฝั่งคืนนี้หรือพรุ่งนี้
ดร.ธรณ์ คาดการณ์ "คราบน้ำมัน" ที่รั่วไหลกลางทะเลระยอง หย่อมแรกอาจถึงชายฝั่งในคืนนี้หรือพรุ่งนี้ แนะการกำจัดด้วยสารเคมีไม่ควรทำ หากคราบน้ำมันลอยเข้าเขตน้ำตื้น
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันกลางทะเลของ บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน รั่วไหลในทะเลพื้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง โดยโพสต์ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า
"คณะประมง/กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กำลังเก็บข้อมูลในบริเวณแหล่งคราบน้ำมันครับ เราเก็บข้อมูลน้ำ ข้อมูลตะกอนดิน สัตว์ ฯลฯ เท่าที่จะทำได้ ด้วยข้อจำกัดว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน
คราบน้ำมันที่พบ มีทั้งเป็นฟิล์ม บ้างก็รวมกันกับตะกอน/แพลงก์ตอน สารที่ใช้เพื่อจัดการคราบน้ำมัน ฯลฯ ลอยเป็นแพสีต่าง ๆ ตอนแรกน้ำมันเป็นแพขนาดยักษ์ เมื่อมีการกำจัดเป็นหย่อมๆ ปริมาณก็ลดลงบ้าง แต่คง บอกว่าหมดแล้ว คงพูดไม่ได้
แน่นอนว่าทุกฝ่ายพยายามเต็มความสามารถ แต่ระหว่างที่ทำงานกัน คราบน้ำมันก็ลอยเข้าใกล้ฝั่งมาเรื่อย ๆ คำว่าถึงฝั่งเมื่อไหร่ ? คงต้องบอกว่าคงกระจายกันไป หย่อมแรกอาจมาถึงก่อนในคืนนี้หรือพรุ่งนี้ ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถึงวันเสาร์
เส้นทางตอนนี้ลมเริ่มเบนไปทางตะวันออกมากขึ้น พื้นที่ก้นอ่าว เขาแหลมหญ้า และพื้นที่ใกล้เคียง เป็นส่วนหนึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เมื่อระลอกแรกผ่านไป อาจมีระลอกสองมาเป็นก้อนน้ำมันดิน ทยอยติดตามมาอีกหลายวัน จากประสบการณ์ครั้งปี 56 ช่วงระลอกสองต้องตามกันนาน 1-3 สัปดาห์ ผลกระทบยังไม่สามารถบอกตอนนี้ได้ ขึ้นกับว่าขึ้นฝั่งแค่ไหน แต่บอกได้ว่าเรามีข้อมูล Before ไว้แล้ว
ตอนนี้น้ำมันก็เริ่มเข้ามาในเขตหาสัตว์น้ำของพี่น้องประมงพื้นบ้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงก็คงต้องดูแล และทราบว่ามีการพูดคุยหารือกันแล้วบ้าง หากเข้ามาถึงหาดทราย ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 56 อ่าวพร้าวยาวแค่ 400 เมตร พื้นที่น้อยกว่าหนนี้
สถานการณ์ที่เกิดคงไม่เป็นภาพดำปี๋เหมือนครั้งก่อน แต่มีการกระจายในวงกว้างกว่า การรับมือก็ต้องประเมินว่าที่ไหนมากน้อย เพื่อจัดคนเข้าไปดูแลให้ถูกต้อง ไม่ใช่เฮกันไปเฉพาะบางที่ คณะประมงจะทำงานกับกรมทะเลอย่างใกล้ชิดต่อไป เป็นกำลังใจให้หน่วยงานที่กำลังพยายามดูแลกำจัดทุกท่าน ให้กำลังใจชาวระยองด้วยเช่นกัน จะอัพเดทสถานการณ์เรื่อยๆ เท่าที่ทำได้ครับ"
ขอบคุณภาพ เฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ยังได้เปิดเผยในรายการ "คมชัดลึก" ดำเนินรายการโดย วราวิทย์ ฉิมมณี ช่วงบ่ายวันนี้ (27) ประเด็นหนึ่งกล่าวถึงการกำจัดคราบน้ำมันว่า เนื่องจากมีการกระจายของน้ำมันเป็นบริเวณกว้าง การเก็บขณะนี้ทำเป็นจุด ๆ เนื่องจากทุ่นกักน้ำมันมีความยาวไม่ครอบคลุม โดยเมื่อกักได้แล้วก็จะโปรยสารเคมีเพื่อให้น้ำมันแตกตัวและย่อยสลายง่ายขึ้น แต่ก็ไม่มีสารเคมีไหนในโลกที่จะทำให้คราบน้ำมันหายไปโดยไม่มีผลกระทบ
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ใช้วิธีเดียวกับ 9 ปีก่อน คือถ้าน้ำมันรวมกันเป็นก้อนหนาก็จะย่อยสลายยาก จึงใช้สารเคมีเพื่อให้น้ำมันแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ จากนั้นก็จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ง่ายขึ้น ซึ่งหากอยู่ในบริเวณน้ำลึกก็ไม่มีปัญหา เพราะจะแตกตัวในมวลน้ำแล้วหายไป แต่ถ้าอยู่ในที่ตื้นมาก ๆ สารเคมีที่ไปจับกับน้ำมันก็อาจลงไปถึงพื้นทะเลโดยยังไม่ทันย่อยสลาย ความลึกความตื้นจึงมีผล ซึ่งขณะนี้คราบน้ำมันยังอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 9 กิโลเมตร ระดับน้ำยังลึกมากกว่า 10 เมตร จึงยังใช้สารเคมีได้ แต่หากคราบน้ำมันเข้ามาใกล้ฝั่งมากกว่านี้ ตนเองก็ได้แจ้งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลแล้วว่าต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากน้ำตื้นมากแล้วคราบน้ำมันแตกตัวไม่ทัน ก็อาจเกิดปัญหาในระยะยาว จึงไม่ควรใช้