"นิพนธ์" กำชับทุกหน่วยงาน บูรณาการ แก้ไขปัญหาไฟป่า
"นิพนธ์" กำชับทุกหน่วยงาน บูรณากา รแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างใกล้ชิด พร้อมแนะให้ทำความเข้าใจ กับประชาชน ในการเลิกพฤติกรรมการเผา เชื่อว่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 มกราคม 2565 ที่ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดเชียงใหม่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า
โดยมีนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วมประชุม
นายนิพนธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับปัญหาหมอกควันไฟป่า เป็นอย่างมาก โดยได้ออกข้อกำหนด มาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหา และกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ก็จะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการแก้ปัญหา สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันที่เกิดขึ้นจากแหล่งกำเนิดในพื้นจังหวัดเชียงใหม่
"และให้กำหนดรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะบูรณาการหน่วยงานแก้ไขปัญหาร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
พร้อมเน้นย้ำนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ให้มีการเฝ้าระวัง ออกลาดตระเวน และเตรียมความพร้อมในการเข้าไปดับไฟ หากเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นในพื้นที่ เพื่อลดจุดความร้อน และแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่
และที่สำคัญจะต้องทำความเข้าใจและขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ในการ งด หรือ เลิก การเผา ถ้าพี่น้องประชาชนเข้าใจและเลิกพฤติกรรมดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การการแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ"นายนิพนธ์ กล่าว
โดยเมื่อค่ำวานนี้ (26 ม.ค.)นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้ลงพื้นที่ป่าชุมชน บ้านท่าสะแล หมู่ 11 ต.เวียง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ในพื้นที่อำเภอฝาง
โดยมีนายปรีชา ศิรินาม ปลัดอำเภอ รักษาราชการแทนนายอำเภอฝางพร้อม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ตำบลเวียง ให้การต้อนรับ และรายงานข้อมูล เกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในพื้นที่
โดยปี 2565 อำเภอฝาง ได้มีการเตรียมความพร้อม ดำเนินมาตรการเชิงรุก ประกอบด้วย 4 มาตรการเชิงพื้นที่ 4 มาตรการบริหารจัดการ และมาตรการประชารัฐ ขณะที่ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน คือเครื่องมือและอุปกรณ์มีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ และมีสภาพเก่า ขาดงบประมาณ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีเพียงพอ
ประกอบกับสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน และเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่สามารถเข้าพื้นที่ทำการดับไฟได้