ข่าว

กระทรวงการต่างประเทศ แจงทุกปมคำถามนายกฯเยือน "ซาอุฯ"

กระทรวงการต่างประเทศ แจงทุกปมคำถามนายกฯเยือน "ซาอุฯ"

28 ม.ค. 2565

กระทรวงการต่างประเทศแจงการเยือน "ซาอุฯ" มีการเตรียมการมานานและได้รับเชิญจากมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุฯให้เป็นปกติ ยันไม่มีผลในเชิงลบ 

ตามกระแสข่าววิจารณ์เกี่ยวกับการเยือนราชอาณาจักร"ซาอุดีอาระเบีย"อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ในประเด็นต่าง ๆ นั้น นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยข้อมูล ดังนี้ 

 

1. ในการเยือน "ซาอุดีอาระเบีย" ครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้เตรียมการเยือน "ซาอุดีอาระเบีย" มาเป็นระยะเวลาพอสมควร ไม่ใช่เป็นการเยือนที่เกิดขึ้นโดยกะทันหัน การปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมา และเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการพบหารือ 3 ฝ่าย ระหว่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายกรัฐมนตรีบาห์เรน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพฯ

 

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายได้หารือกันต่อเนื่อง เช่น การพบกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบียในช่วงการประชุมผู้นำ G20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 และการเดินทางเยือน "ซาอุดีอาระเบีย" อย่างเป็นทางการของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2563 

2.ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือน "ซาอุดีอาระเบีย" อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักร "ซาอุดีอาระเบีย" ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญ รวมถึงเป็นผู้แทนในการพบหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ อาทิ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

 

และถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทนำในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีได้รับการต้อนรับจากเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ อย่างสมเกียรติ และเห็นชอบการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับ "ซาอุดีอาระเบีย" ให้เป็นปกติ ซึ่งจะมีการดำเนินการสำคัญที่ตามมาคือการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตของทั้งสองประเทศ และการวางแนวทางความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ต่อไป  

3. การปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับ "ซาอุดีอาระเบีย" ให้เป็นปกติ จะสร้างประโยชน์ให้ไทยในทุกด้าน โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยกลุ่มธุรกิจไทยจะเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ และเป็นตลาดการลงทุนสำคัญของไทย

 

การสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจอาหารฮาลาลของไทย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารของไทยด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้แรงงานฝีมือและแรงงาน
เฉพาะทางของไทย สามารถกลับเข้าไปทำงานใน"ซาอุดีอาระเบีย"ได้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมากในขณะนี้

 

ในอดีตเคยมีแรงงานไทยในซาอุดีอาระเบียกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้ส่งไทยมากกว่า 9,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย  2 เท่าหลังการปรับความสัมพันธ์ และสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งชาวซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพสูงในแง่การจับจ่ายใช้สอย และเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะส่งเสริมไทยในด้าน medical hub  

 

4. ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียมีความเปลี่ยนแปลงและเปิดกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ โดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบียมีนโยบายการค้าเสรี กอปรกับการดำเนินนโยบายสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจภายใต้วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030ยิ่งเพิ่มโอกาสสำหรับภาคธุรกิจของไทย 

 

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังสามารถเป็นตัวเชื่อมประเทศไทยเข้ากับกลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ การปรับความสัมพันธ์ฯ ในครั้งนี้จึงมีแต่ผลดีทั้งต่อทั้งประชาชนของไทยและซาอุดีอาระเบีย โดยไม่มีผลในเชิงลบแต่อย่างใด