ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง"ยิ่งลักษณ์" คดีทุจริตจัดโรดโชว์สร้างอนาคตไทย
ป.ป.ช. ยื่นฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์" กับพวกรวม 6 คน ต่อศาลฎีกาคดีนักการเมือง คดีทุจริตจัดโรดโชว์สร้างอนาคตไทย 239 ล้านบาท ศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องคดีหรือไม่ 19 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 09.30 นาฬิกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ได้ยื่นฟ้อง "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บริษัทสยามสปอร์ต ชินดิเคท จำกัด (มหาชน) นายระวิ โหลทอง กรรมการผู้บริหารบริษัท สยามปอร์ตฯ เป็นจำเลยที่ 1-6 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
โดยกล่าวหาว่า เมื่อระหว่างปลายเดือนสิงหาคม 2556 ถึงวันที่12 มีนาคม 2557 จำเลยที่1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
ส่วนโครงการที่เหลืออีก 10 จังหวัด วงเงินไม่เกิน 200 ล้านบาท จำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการโดยวิธีพิเศษ ต่อมาจำเลยที่ 2 อนุมัติตามที่จำเลยที่3 เสนอให้จ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ตามที่ตกลงไว้ล่วงหน้าทั้งจำเลยที่ 3 ยังเสนอ ครม.ขอให้มีมติยกเว้นการลงนามในสัญญาก่อนได้รับเงินประจำงวด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในที่ประชุมได้ลงมติอนุมัติด้วย
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้โครงการที่จะเกิดขึ้นตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมิอาจเกิดขึ้นได้โครงการ Roadshow เกิดความสูญเปล่า เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเป็นเงิน 239,700,000 บาท
กล่าวคือจำเลย 1-3 กำหนดตัวบุคคลผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 จำนวน 12 จังหวัด โดยยังไม่ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา จำเลยที่ 3 เสนอและจำเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง 40 ล้านบาท ทั้งที่มิใช่กรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอจำเลยที่ 2 อนุมัติหลักการจัดโครงการที่จังหวัดหนองคายและนครราชสีมา ในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยวิธีพิเศษจำเลยที่ 3 ครอบงำจูงใจให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษยอมรับการเสนอราคาของจำเลยที่ 4 หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 เสนอและจำเลยที่ 2 อนุมัติจ้างย้อนหลัง
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1-3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12-13 ลงโทษจำเลยที่ 4-6 ในฐานะผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5-6 มาศาล และได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 19 เมษายน 2565 เวลา 09.30 นาฬิกา