เจาะสนาม"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"เหตุปัจจัยเชิงลึกเพื่อไทยชนะพลังประชารัฐ
"สุรชาติ เทียนทอง" พรรคเพื่อไทย สามารถยึดที่นั่งส.ส.กทม. เขต 9 "หลักสี่-จตุจักร" ได้สำเร็จ ขณที่คู่แข่งคนสำคัญ อย่างสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ภรรยาสิระ คะแนนทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น เกิดอะไรขึ้น มูลเหตุสำคัญใดทำให้เพื่อไทยกลับมาผงาด ติดตามการคำตอบได้ที่นี่
ในที่สุดพรรค นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 ก็สามารถชนะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 "จตุจักร-หลักสี่" ได้สำเร็จ โดยชนะผู้สมัครส.ส.จากทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้สมัครจาก พรรคพลังประชารัฐ นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ หมายเลข 7 คะแนนห่างกันชนิดไม่เห็นฝุ่น ที่สำคัญ สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ คือ ภรรยา ของนายสิระ เจนจาคะ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่เลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่ -จตุจักร เหตุปัจจัยใด ทำให้ สุรชาติ เทียนทอง ที่เคยพ่ายเลือกตั้งปี 62 คะแนนห่างจากนายสิระ แค่สองพันคะแนน กลับมาผงาดเป็นส.ส.เข้าสภา สำเร็จ
ส่วนปัจจัยลึกๆ ที่ทำให้ผู้สมัครส.ส.จากพรรค เพื่อไทย สามารถเอาชนะผู้สมัครส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐได้นั้น รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ภาพรวม การเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร กับ "คมชัดลึก" ว่า การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในเขตพื้นที่นี้เป็นการต่อสู้ที่ชัดเจนระหว่างพรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขับเคี่ยวกันมาก และหลายคนฟันธงว่าน่าจะเป็นชัยชนะของพรรคเพื่อไทย เพราะ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครเบอร์ 3 พรรคเพื่อไทย มีความได้เปรียบ
แต่สิ่งสำคัญคือในพื้นที่เขต 9 กทม. "หลักสี่-จตุจักร" นั้น เสียงจากคนในพื้นที่มีความสำคัญ ไม่น้อยกว่ากระแสการเมืองระดับชาติ ซึ่ง กทม.มีทั้งการแบ่งเขต เป็น กทม.ชั้นกลาง กทม.ชั้นใน และ กทม.ชั้นนอก เขต "หลักสี่-จตุจักร" ออกไปทาง กทม.ชั้นกลางค่อนไปทางชั้นนอก ลักษณะโครงสร้างทางสังคมวิทยา การตั้งชุมชนต่าง ๆ ไม่เหมือนกทม.ชั้นในเสียทีเดียว ซึ่งกทม.ชั้นในมีความเป็นเมืองและมีชุมนุมดั้งเดิม แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเมืองสมัยใหม่ มีคอนโดฯ แหล่งที่อยู่อาศัยและไม่เกาะเกี่ยวผู้คนเหมือน กทม.ชั้นกลางและกทม.ชั้นนอก ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่และผู้สมัครส.ส.และทีมงาน ส.ก., ส.ข.
ทั้งนี้ พบได้ว่าเขต "หลักสี่-จตุจักร" ถือเป็นกทม.ชั้นกลางค่อนไปทางชั้นนอก ลักษณะมุมมองความคิดจะให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นทีมส.ก. หรือ ส.ข. และทีมของบรรดาผู้สมัครส.ส.ด้วย ดังนั้น การทำงานอย่างต่อเนื่องคือคำตอบที่สำคัญในการลงสมัครรับ เลือกตั้ง ส.ส. เพราะมุมมองของคนในพื้นที่จะต่างกับกระแสการเมืองระดับชาติ
นอกจากนี้ การที่พรรค เพื่อไทย บอกว่า โหวตเลือกผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เพื่อต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกและรมว.กลาโหม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็สะท้อนการเมืองที่แบ่งขั้วทางการเมือง ถือเป็นการต่อสู้ของสองพรรคใหญ่ระหว่างพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน
ขณะที่ในพรรค พปชร.มีการต่อรองทางการเมือง มีกลุ่มทางการเมือง และมีความเคลื่อนไหวกันตลอด อย่างกรณีกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคและพวก เหล่านี้เป็นปัจจัยทางการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ หรือกรณีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่สงขลาและชุมพร ผลการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดนี้ส่งผลสะท้อนต่อการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย
ดังนั้น การแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส. "หลักสี่-จตุจักร" ครั้งนี้ของ พรรคพลังประชารัฐ โอกาสที่พรรคจะมีการขยับเปลี่ยนแปลง และการย้ายออกจากพรรคจะมีให้เห็น ยิ่งถ้าสัญญาณการเลือกตั้งมีความชัดเจน ก็จะเห็นการเคลื่อนไหวและปรากฏการณ์ในสภามากขึ้น เช่น สภาล่ม ซึ่งจะสะท้อนภาพออกมาให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐมีปัญหา
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองอื่น ๆ ส่งผู้สมัครลง เลือกตั้งซ่อมส.ส. ด้วย ทั้งพรรคก้าวไกล พรรคกล้า พรรคไทยภักดี พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคยุทธศาสตร์ชาติ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน ก็เป็นการส่งผู้สมัครเพื่อเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับพรรค แต่ก็เป็นการส่งผู้สมัครส.ส.ลงมาเพื่อตัดคะแนนกันเองด้วย