ข่าว

ที่ปรึกษาท่องเที่ยวระยอง ติงวิธีกำจัดคราบน้ำมันไม่ทันสถานการณ์

ที่ปรึกษาท่องเที่ยวระยอง ติงวิธีกำจัดคราบน้ำมันไม่ทันสถานการณ์

30 ม.ค. 2565

ดร.อบรม ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ติงวิธีกำจัดคราบน้ำมันดิบยังใช้แบบโบราณ แถมส่งผลต่อระบบนิเวศ ทั้งที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ให้ใช้ในประเทศไทยแล้ว

ดร.อบรม อรัญพฤกษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง และที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าในการแก้ไขเหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเล เมื่อคืนวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดคราบน้ำมันได้ลอยมาถึงชายหาดแม่รำพึง อ.เมือง จ.ระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง เปิดเผยกับ "คมชัดลึก" ว่า ประเด็นสำคัญขณะนี้คือไม่รู้ว่าจำนวนน้ำมันรั่วไหลที่แท้จริง  ถ้ามีความชัดเจนจึงจะคำนวณพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบได้อย่างแน่ชัด และตัวเลขที่ต่างกันเยอะยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม จำนวนจะรั่วไหลเท่าใดชาวบ้านไม่ได้สนใจ แต่อยากรู้ว่าจะส่งผลอะไรมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกับระบบนิเวศทางทะเล กุ้งหอยปูปลาหมึกที่ต้องตาย อีกนานไหมกว่าธรรมชาติจะฟื้นตัว แต่บรรยากาศการท่องเที่ยวนั้นจบแล้ว มีการยกเลิกห้องพักจำนวนมาก ทั้งที่ฝั่งระยองและเกาะเสม็ด

ดร.อบรม อรัญพฤกษ์

ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ยังแสดงความกังวลถึงการขจับคราบน้ำมัน ซึ่งพบว่าใช้วิธีการแบบเดิม คือการซับด้วยกระดาษ บูม การโกย การดูด การตัก เพื่อนำกลับเข้าโรงงาน ทำไมจึงไม่กักไว้ในบริเวณเพื่อดูจำนวนรั่วไหลที่แท้จริง ทั้งยังเป็นอันตรายด้วย เนื่องจากน้ำมันดินมีสารเคมีอันตรายหลายอย่าง วิธีการกำจัดแบบนี้ยังโบราณ ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทำไมไม่คิดในแนวทางใหม่ ทั้งที่ขณะนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาขยะอินทรีย์ด้วยการบำบัดทางชีวภาพ อย่างการใช้จุลินทรีย์ฉีดคลุมพื้นที่ ซึ่งจุลินทรีย์นี้จะเข้ามากินไฮโดรคาร์บอนเป็นอาหารแล้วย่อยสลายไปในทะเลเลย ในประเทศไทยก็มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีนี้จำหน่าย ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ งานนี้ใช้วิธีแบบลูกทุ่งไม่ได้ ต้องใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การฉีดสารเคมีให้ไปจับตัวกับคราบน้ำมันแล้วจมสู่ก้นทะเลก็ยิ่งสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ

ดร.อบรม อรัญพฤกษ์ กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการต่อสถานการณ์เช่นนี้ ยังควรมีความชัดเจนว่าท่านใด หรือหน่วยงานใดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ระเบียบและกฎหมายต่อการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ของไทยมีความลักลั่น ทั้งระดับส่วนกลางและภูมิภาค แม้จะมีการประกาศเขตภัยพิบัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว จากนั้นแผนปฏิบัติการจะทำอย่างไรต่อ ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทัพเรือ กระทรวงทรัพยากรฯ กรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ  

ที่ปรึกษาท่องเที่ยวระยอง ติงวิธีกำจัดคราบน้ำมันไม่ทันสถานการณ์ ขอบคุณภาพจากเพจระยอง

ที่ปรึกษาท่องเที่ยวระยอง ติงวิธีกำจัดคราบน้ำมันไม่ทันสถานการณ์ ขอบคุณภาพจากเพจระยอง

นอกจากนี้ ดร.อบรม ซึ่งเคยทำงานในธุรกิจพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยังได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวสารเคมีในน้ำมันดิบ ว่ามีหลายตัวที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นและระยะเวลาที่สัมผัส ประกอบด้วย

Benzene เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำ พิษเฉียบพลันอาจทำให้อาเจียน , ระคายเคืองกระเพาะอาหาร , วิงเวียนศีรษะ , ระคายเคืองตา จมูก ลำคอและผิวหนัง ผู้ที่มีโรคเรื้อรังเช่นโรคหอบหืดอาจจะมีความไวต่อไอระเหยของเบนซิน ส่วนพิษเรื้อรังอาจทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว

Hydrogen sulfide เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ หรือดูดซึมทางผิวหนัง พิษเฉียบพลันทำให้ระคายเคืองตา จมูก และลำคอ ส่วนพิษเรื้อรังอาจส่งผลต่อระบบความจำ

Ethyl Benzene เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในน้ำ พิษเฉียบพลันทำให้วิงเวียนศรีษระ ระคายเคืองตา และลำคอ

Toluene เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในน้ำ พิษเฉียบพลันคือสูญเสียการทรงตัว การได้ยิน การมองเห็น หมดสติ ส่วนพิษเรื้อรังจะส่งผลต่อระบบประสาท ไต

Xylene เข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในน้ำ พิษเฉียบพลันทำให้ปวดศีรษะ , ระคายเคืองผิว ตาจมูก ลำคอ และกระเพาะอาหาร หรือหมดสติ สำหรับพิษเรื้อรังมีผลต่อระบบความจำ ตับ และไต

Naphthalene เข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในน้ำ พิษเฉียบพลันทำให้คลื่นไส้ , อาเจียน , ท้องเสีย , ปัสสาวะมีเลือด , ผิวหนังมีผื่นขึ้นและมีสีเหลือง ส่วนพิษเรื้อรังอาจส่งผลต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง , โรคโลหิตจาง

Alkanes เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ , ดูดซึมทางผิวหนังหรือปนเปื้อนในน้ำ พิษเฉียบพลันมีผลให้กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงและชา ส่วนพิษเรื้อรังอาจทำให้กล้ามเนื้อแขนขาสูญเสียความรู้สึก

อ้างอิง http://www.atsdr.cdc.gov/toxprofiles/index.asp