การเก็บกู้คราบน้ำมันหาดแม่รำพึงประสบความสำเร็จ
จากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลจำนวน 400,000 ลิตร จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง บริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (SPM) ซึ่งเกิดเหตุเมื่อ เวลา 21.06 น. ในวันที่ 25 มกราคม 2565 และจำเป็นต้องยับยั้งไม่ให้น้ำมันเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่ง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ ตรวจติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันบริเวณหาดแม่รำพึง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือ และดำเนินการการเก็บกู้คราบน้ำมันได้อย่างรวดเร็วพบว่าสถานการณ์เข้าสู่สภาพปกติ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งฟื้นฟู จังหวัดจะดูแลประสานช่วยเหลือการเยียวยาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เกิดขึ้นของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เวลา 21.00 น. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการรับมือในการแก้ไขปัญหาคราบน้ำมัน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์การเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันโดยใช้โปรแกรม Oil Map ซึ่งผลการคาดการณ์พบว่าคราบน้ำมันจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งหาดแม่รำพึง ในวันที่ 28 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. โดยหลังจากที่น้ำมันมีการเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งตามการคาดการณ์เมื่อเวลา 22.00 น. ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือ และดำเนินการการเก็บกู้คราบน้ำมันได้อย่างรวดเร็วจนสถานการณ์ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่สภาพปกติ และจากข้อมูลแนวลมเคลื่อนตัวจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกทำให้หาดแม่รำพึงมีความปลอดภัย แต่ยังมีกลุ่มคราบน้ำมันที่ยังลอยอยู่ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แต่เนื่องจากมีช่องแคบประมาณ 500 เมตร ที่จะป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นชายฝั่งได้ จึงขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังในเตรียมความพร้อมรับมือ
นายวราวุธ กล่าวว่า ในส่วนการเฝ้าระวัง ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ ให้กับประชาชนงดจับสัตว์น้ำประมาณ 1 เดือน ในเบื้องต้น จังหวัดจะดูแลประสานช่วยเหลือการเยียวยาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ในส่วนการฟื้นฟูและประเมินความเสียหายด้านทรัพยากรทางทะเล จะดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป
ขอให้จังหวัดเข้มงวด ตรวจตรา โรงงานในพื้นที่ ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องหมั่นตรวจตราอุปกรณ์เครื่องมือ ทั้งที่อยู่บนบก และในทะเล ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เนื่องจากการฟื้นฟูทรัพยากรจะใช้งบประมาณมากกว่าการป้องกันที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในสภาพปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของ ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเล และ คพ. จะติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล และจะรายงานผลคุณภาพน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาพปกติ นายวราวุธกล่าว