ข่าว

เรียนออนไซต์ ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ หลังคลัสเตอร์นักเรียนพุ่งไม่หยุด

เรียนออนไซต์ ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้ หลังคลัสเตอร์นักเรียนพุ่งไม่หยุด

01 ก.พ. 2565

จากข้อวิตกว่าการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จะทำให้นักเรียน นักศึกษา ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ จนมีความพยายามให้กลับมา "เรียนออนไซต์" แต่จากตัวเลขคลัสเตอร์โควิดในโรงเรียนที่พุ่งสูงต่อเรื่อง จึงมีคำถามใหม่ เรียนออนไซต์ ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้

หลังจากต้องล็อกดาวน์ ปิดประเทศ เพราะสถานการณ์ของไวรัสโควิด 19 จนต้องปรับการใช้ชีวิตไปเป็นรูปแบบออนไลน์ (Online) ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ก็คือนักเรียนนักศึกษา ที่ต้องไปเรียนผ่านหน้าจอแทน กระทั่งผ่านไปกว่า 2 ปี จึงเริ่มมีการเปิดเรียนแบบออนไซต์ (On-site) หรือการกลับมานั่งเรียน ภายในโรงเรียนจริง ๆ กันอีกครั้ง 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ระบุว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กคือการมาโรงเรียน การเรียนออนไลน์ทำให้เด็ก ๆ เสียโอกาส จึงขอให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และนักเรียน ช่วยกันจนโรงเรียนเปิดเรียนออนไซต์เต็มรูปแบบให้ได้ และได้มีคำสั่งให้แต่ละโรงเรียนวางแผนการเรียนการสอนออนไซต์

ซึ่งหลายโรงเรียนก็ขานรับพร้อมทยอยเปิดสอนตามแผนของแต่ละโรงเรียน เช่นเริ่มจากชั้นที่ต้องสอบเลื่อนระดับก่อน ซึ่งเป็นมาตรการที่วางไว้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ที่ผ่านมา โดยกระทรวงศึกษาธิการตั้งเป้าหมายว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จะเปิดเรียนออนไซต์ให้ได้ทุกโรงเรียน 

แต่จากการแพร่ระบาดระลอกที่ 5 ของโควิด ภายใต้สายพันธุ์ล่าสุด "โอไมครอน" ที่แม้อาการจะไม่หนักเหมือนสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ แต่กลับกระจายได้เร็วกว่ามาก โดยมองย้อนกลับไปไม่กี่วันที่ผ่านมา พบว่ามีคลัสเตอร์ หรือการติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนในหมู่เด็กนักเรียนจำนวนมากเกือบ 20 จังหวัดแล้ว

โดยวันนี้ (1) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน รายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งจังหวัดเพิ่มขึ้น 98 คน ซึ่งคลัสเตอร์หนึ่งที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมก็คือสถานศึกษา ซึ่งเมื่อวันที่ 21 – 28 มกราคม 2565 นายกเทศมนตรีเมืองน่านได้ประกาศปิด  โรงเรียนสามัคคีวิทยาคาร (บ้านพระเนตร) โรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ (บ้านภูมินทร์) โรงเรียนดรุณวิทยา (บ้านสวนตาล) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กค่ายสุริยพงษ์ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่

ส่วนที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พบคลัสเตอร์โรงเรียนบ้านราหุล ตรวจ ATK นักเรียนและครู ผลเป็นบวก 37 ราย แบ่งเป็นครู 1 คน นอกจากนั้นเป็นนักเรียนอนุบาล 3 จำนวน 2 คน , ประถม 22 คน , มัธยมต้น 12 คน จนต้องปรับโรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนามในเวลานี้ ส่วนผู้ที่ไม่พบเชื้อให้กลับไปเรียนแบบออนไลน์แทน

จังหวัดราชบุรี พบคลัสเตอร์ที่โรงเรียนธรรมจารินีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน มีผู้ติดเชื้อรวม 311 คน จากนักเรียนทั้งหมด 1,055 คน ครู 92 คน สาเหตุจากนักเรียนกลับบ้านและติดเชื้อ ก่อนมาแพร่กระจายภายในหอพัก

ใกล้เคียงกับกรณีที่ราชบุรีคือที่โรงเรียนสอนคนตาบอด ภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำเช่นกัน มีเด็กที่ผลตรวจเป็นบวก 12 คน ครู 1 คน พี่เลี้ยง 1 คน รวมเป็น 14 คน

ขณะที่จังหวัดลำปาง พบคลัสเตอร์ผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงเรียนอนุบาลลำปาง อ.เมืองลำปาง จำนวน 11 ราย จากการพบผู้ป่วยซึ่งเป็นนักเรียนห้องเดียว 2 คน ก่อนมีการกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 71 คน แล้วพบเพิ่มอีก 9 คน

สำหรับจังหวัดสุโขทัย  พบว่า 3 ใน 5 คลัสเตอร์ เป็นสถานศึกษา นั่นคือมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย  , โรงเรียนวัดไทยชุมพล  และบ้านเด็กกำพร้าตายิ้ม 

ด้านโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ต้องปิดโรงเรียนแล้วกลับมาเรียนแบบออนไลน์จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ เพราะนักเรียนเล่นกีฬาแล้วดื่มน้ำแก้วเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ และมีการสัมผัสส่งต่อเชื้อออกไป รวมติดเชื้อ 18 คน ครูอีก 2 คน 

เช่นเดียวกับโรงเรียนกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ที่แจ้งปรับการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ ระหว่างวันจันทร์ที่ 31 มกราคม – วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ หลังพบการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียน

ยังไม่รวมถึงการพบคลัสเตอร์โควิด-19 ในสถานศึกษาอีกหลายจังหวัด อาทิ เพชรบุรี , ปราจีนบุรี , สระแก้ว , สมุทรปราการ , หนองคาย , ยโสธร , เลย  

จึงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงษศึกษาธิการ ว่า การเรียนแบบออนไซต์ ควรไปต่อ หรือพอแค่นี้