ข่าว

ครม. เห็นชอบตั้ง"ศูนย์ปราบข่าวปลอม"ทุกจังหวัด พบข่าวปลอมจัดการภายใน 1 ชม.

ครม. เห็นชอบตั้ง"ศูนย์ปราบข่าวปลอม"ทุกจังหวัด พบข่าวปลอมจัดการภายใน 1 ชม.

01 ก.พ. 2565

ครม. เห็นชอบหลักการร่างระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ตามที่กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ สั่งทุก จว. ทุกหน่วยงานราชการตั้งศูนย์ปราบ "ข่าวปลอม" มอบฝ่ายปชส.หน่วยงาน สอดส่องพบข่าวปลอมแจ้งกรมปชส.ภายใน 1 ชม.

1 กุมภาพันธ์ 2565 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม( ดศ. ) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  

 

สำหรับสาระสำคัญของร่างระเบียบฯ ระบุดังนี้   

 

1. กำหนดบทนิยามที่สำคัญ เช่น   

 

1.1 สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หมายความว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2564  

 

1.2 "ข่าวปลอม" หมายความว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน  

 

2. ให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ ศูนย์ประสานงานกลาง ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง และศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด โดยมีรายละเอียดดังนี้  

 
 


2.1 ให้สำนักงานปลัด ดศ. จัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้มีอำนาจและหน้าที่ในการประสานงานกับศูนย์ประสานประจำกระทรวงและศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบของ ดศ. ดำเนินการตามกฎหมายกับ"ข่าวปลอม"และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ข่าวปลอม"

 

สร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อสอดส่องดูแลข้อมูล"ข่าวสารปลอม"บนสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับ"ข่าวปลอม"ของกระทรวงและจังหวัดในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและติดตามผลการดำเนินการของศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงและประจำจังหวัดทั้งนี้ให้สำนักงานปลัด ดศ. กำหนดและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานของศูนย์ประสานงานกลางเพื่อปฏิบัติงานตามอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว   

 

2.2 ให้ทุกกระทรวงจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำกระทรวง โดยให้ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงมีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็น "ข่าวปลอม" เพื่อตรวจสอบและพิจารณาเนื้อหา รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบแต่ละกระทรวงเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ "ข่าวปลอม" ในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยว
ข้อง

 

โดยให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ข้าราชการหรือ จนท.ของรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอม  จนท.ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว   

 

2.3 ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด
โดยศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นข่าวปลอม เพื่อตรวจสอบและพิจารณาเนื้อหา รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยว
กับข่าวปลอมในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด และดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

โดยประสานกับศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำกระทรวง โดยให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและ
รับรองข่าวปลอม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว  

 

3. เมื่อปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือมีการเผยแพร่ "ข่าวปลอม"ในสื่อสังคมออนไลน์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดความเสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรือจังหวัดใด ให้เป็นหน้าที่ของศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงหรือศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมและแจ้งให้ผู้
เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว

 

ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอมดำเนินการแถลงข่าวทันทีที่พบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมและแจ้งกรมประชาสัมพันธ์ภายใน 1 ชั่วโมง และให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องจัดให้มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่ากระทำผิดวินัย 

 

4. กรณีข่าวปลอมใดที่เข้าข่ายหรือสมควรดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบตามระเบียบนี้ แจ้งให้ ดศ. ดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์
ระยะเวลาและวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. 2560  

 

5. กำหนดให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ต้องกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของงานเพื่อการประเมินผลการดำเนินงานตามระเบียบนี้ โดยให้ ดศ. ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว   

 

6. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของสถานศึกษาทุกระดับการศึกษาและทุกประเภทการศึกษามีหน้าที่ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักและความรู้เท่าทันข้อมูล "ข่าวปลอม" ทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยการเพิ่มเนื้อหาในรายวิชาที่ทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันและตระหนักถึงอันตรายของข่าวปลอมและสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งจัดให้มีการวัดผลการเรียนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม  

 

7. ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัด ดศ. โดยให้สำนักงบประมาณสนับสุนงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานปลัด ดศ.