เร่งติดตั้งกล้องดักถ่าย "เสือโคร่ง" บ้านปิล็อกคี่ วางแผนผลักดันเข้าป่า
กรมอุทยานฯ จับมือองค์กรเอกชนหลายหน่วยงาน ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพ "เสือโคร่ง" ป่าบ้านปิล็อกคี่ นำข้อมูลวางแผนผลักดันเสือกลับเข้าป่า พร้อมตรวจสอบวัว ควาย หากเป็นคนของคนนอกพื้นที่จะดำเนินคดีเด็ดขาด
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย นางคณิสรา เชฐบัณฑิตย์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ และนายสิขกพงษ์ กระแจะจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) แผนงานประเทศไทย มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย องค์การแพนเทอราประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ในโซนป่าตะวันตกตอนใต้ ได้ประชุมหาแนวทางความร่วมมือในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากร เสือโคร่ง ใน พื้นที่ป่าตะวันตกตอนใต้ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจประชากรเสือโคร่งและเหยื่อในพื้นที่ผืนป่าตะวันตกตอนใต้ และระดมความคิดเห็นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง
นางสาวสุปราณี กำปงชัน สำนักงาน IUCN แผนงานประเทศไทย กล่าวว่า จากงบโครงการสร้างความเข้มแข็งในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ที่ไม่สามารถดำเนินการในฝั่งเมียนมาร์ได้นั้น จะมาดำเนินการในบริเวณ อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู ภายในปี 2565 ทั้งยังมีแผนขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก GEF-8 ในการอนุรักษ์เสือโคร่งร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในระยะยาว 10 ปี
ด้าน นายทิม เรดฟอร์ด (Mr. Tim Redford) มูลนิธิฟรีแลนด์ประเทศไทย ได้รายงานผลการดำเนินโครงการประเมินประชากรเสือโคร่งและเหยื่อใน อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ของประเทศไทย (WEFCOM) โดยยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำกินของราษฎรบ้านปิล็อกคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม โดยจะเร่งติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่ง บริเวณป่าบ้านปิล็อกคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเขตป่ารอยต่อของประเทศไทย -พม่า เริ่มติดตั้งกล้องตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป เพื่อดักถ่ายภาพเสือโคร่งและเหยื่อในบริเวณดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนผลักดันเสือโคร่งเข้าป่าลึก รวมทั้งนำมาวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งในเขตป่ารอยต่อชายแดนไทยและพม่าต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ระยะเวลา 10 ปี โดยเสนอกรมอุทยานแห่งชาติฯ พิจารณาต่อไป เร่งสำรวจข้อมูล วัว ควาย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ในโซนป่าตะวันตก ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงวัว ควาย ในป่าอนุรักษ์ต่อไป เมื่อได้ข้อมูล วัว ควายในเขตอุทยานแห่งชาติ และในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแล้ว จะวิเคราะห์ข้อมูลแยกเป็นกลุ่ม หากเป็นนายทุนนอกพื้นที่จ้างให้ราษฎรในพื้นที่เลี้ยงวัว ควาย ในป่าอนุรักษ์ ก็ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ถ้าเป็นราษฎรในพื้นที่เป็นเจ้าของเลี้ยงวัว ควาย ในป่าตามวิถีชีวิตของชุมชนในป่า ก็ให้หามาตราการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
รวมถึงออกประกาศห้ามเลี้ยงวัว ควาย ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกตอนใต้ทั้งหมด เว้นพื้นที่ผ่อนปรนตามมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 หากฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 21 ประกอบมาตรา 48 วรรคสอง พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับหรือ มีความผิดตามมาตรา 55 (6) ประกอบมาตรา 102 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้สำนักงานแผนงานประเทศไทย IUCN ยังให้การสนับสนุนอุปกรณ์การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ จำนวนทั้งสิ้น 170 ชุด (1 ชุดประกอบด้วย เป้ร็อคแซค เปลสนาม ฟลายชีท และหม้อสนาม) ให้แก่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่โครงการฯ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าต่อไป