"บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน" บึ้งสกุลใหม่ของเอเชียในรอบ 104 ปี
ค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในพื้นที่จังหวัดตาก บึ้งชนิดแรกในโลก ที่มีการดำรงชีวิตอยู่เฉพาะบนต้นไผ่เท่านั้น
ที่จังหวัดขอนแก่น วันนี้ (2 ก.พ. 65) รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ดรุณี โชดิษฐยางกูล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ด็อกเตอร์ ปรเมศ บรรเทิง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและการต่างประเทศ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงการค้นพบ บึ้งต้นไม้สกุลใหม่ของโลก Taksinus bambus หรือ บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นการค้นพบบึ้งสกุลใหม่ของเอเชียในรอบ 104 ปี และยังเป็นครั้งแรกของโลก ที่มีการค้นพบบึ้งสกุลใหม่จากประเทศไทย โดยถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่จังหวัดตาก และได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ลักษณะนิเวศวิทยาของบึ้งชนิดนี้ มีความพิเศษ เนื่องจากเป็นบึ้งชนิดแรกในโลก ที่มีการดำรงชีวิตอยู่เฉพาะบนต้นไผ่เท่านั้น สร้างความน่าประหลาดใจแก่ วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบึ้งต้นไม้อยู่เพียง 4 สกุลคือ Omothymus, Lampropelma, Phormingochilus และ Melognathus กระจายตัวอยู่ในแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ สุมาตรา บอเนียว อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
โดยบึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ถูกค้นพบห่างไกลออกไปในทางพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งหมด ที่เคยถูกค้นพบมาก่อนหน้านี้ โดยค้นพบในป่าไผ่บนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตร ในพื้นที่จังหวัดตาก บึ้งเป็นสัตว์ไม่สามารถเจาะรูไม้ไผ่ได้เอง
จากการศึกษาสันนิษฐานว่า อาจจะเกิดจากสัตว์ฟันแทะเจาะเข้ามา ใช้ประโยชน์ในการหาอาหารจากไผ่เพื่อกินหนอนที่อยู่ภายใน รวมถึงอาจเกิดจากสัตว์อื่น ๆ เช่น แมลงที่เจาะเข้าไป หรือเกิดจากการปริแตกตามธรรมชาติของต้นไผ่ รวมจากการกระทำของคน บึ้งชนิดนี้จะอาศัยอยู่ภายในปล้องไผ่ โดยสร้างใยปกคลุมล้อมรอบภายในปล้อง และมักออกมาหาอาหารซึ่งจะเป็นสัตว์ขนาดเล็กหรือแมลงในช่วงกลางคืน
ลักษณะสำคัญในการจำแนกบึ้งสกุล Taksinus มีลักษณะแตกต่างจากบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ คือลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สั้น และความชันของส่วนปลายน้อยกว่า บึ้งต้นไม้ในสกุลอื่นที่พบทั้งหมด รวมทั้งบึ้งสกุลนี้ยังมีขนาดเล็กกว่าบึ้งต้นไม้ในสกุลอื่น ๆ ด้วย
แต่ปัจจุบันพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31 เปอร์เซ็นต์ หากในอนาคตพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากลักษณะการดำรงชีวิตที่ผูกติดกับป่าไผ่ และสามารถพบได้บนพื้นที่บนภูเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น
ภาพ/ข่าว นิติกรณ์ ฝางมาลา ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ขอนแก่น