"หมอเดว" ซัด ดราม่าทดสอบ "เด็กอนุบาล" ห้ามร้องไห้ เป็นการทารุณเด็ก
"หมอเดว" ซัด ดราม่า ทดสอบพัฒนาการ "เด็กอนุบาล" ห้ามร้องไห้ เป็นการทารุณกรรมเด็ก ผิดหลักการ พ.ร.บ.ปฐมวัย ชัดเจน
จากกรณีเกิดประเด็นดราม่า "เด็กอนุบาล" สนั่นโซเชียล เมื่อโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้มีการทดสอบประเมินพัฒนาการของเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1, อนุบาล 2 และ อนุบาล 3 ประจำปีการศึกษา 2565 โดยในเอกสารได้ระบุเนื้อหาไว้ว่า
- นักเรียนต้องเข้าทดสอบทุกฐาน
- หากนักเรียนที่เข้าทดสอบร้องไห้ ให้หักคะแนนฐานที่ร้องไห้ฐานละ 3 คะแนน
- ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าห้องสอบทุกกรณี
โดยเฉพาะข้อปฏิบัติที่ระบุว่า ถ้าเด็กร้องไห้จะโดนหักคะแนน จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล พร้อมตั้งคำถามว่า เป็นเพียงแค่เด็กก็ไม่สามารถร้องไห้ได้เลยหรือ
ล่าสุด "หมอเดว" ศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ค บันทึกหมอเดว ระบุว่า มีผู้ใหญ่ท่านส่งมาท่านถามว่าอย่างนี้ได้ด้วยหรือ ไม่ได้แน่นอนครับ ไม่ควรทำ และไม่ควรมีใครเอาอย่างด้วย การทดสอบ แบบ high stake test ที่มีได้ มีตก มีคะแนน หักคะแนน เพื่อนำไปประเมินผล เป็นกระบวนการเชิงระบบที่ทารุณเด็ก โดยไม่เข้าใจ เห็นใจจิตใจของเด็ก โปรดระลึกว่าเด็กทุกคนไม่ใช่ผ้าขาว ฉะนั้น เด็ก ๆ วัยนี้กำลังปรับตัว ปรับพื้นฐานอารมณ์ สังคม เด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก เด็กอ่อนไหวง่าย เด็กพลังเหลือล้น เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ เขาไม่ผิด ที่จะถูกผู้ใหญ่มาสร้างกติการเปรียบเทียบ การสอบวัดผลใด ๆ ในช่วงปฐมวัย ผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการทั้งหมด
"หมอเดว" ระบุว่า ปฐมวัย UNESCO ให้นิยามตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึง 8 ปี แต่บ้านเราแรกเกิดถึงหกปี โดยหลักจิตวิทยาพัฒนาการ ;การประเมินพัฒนาการ นั้น ในทางจิตวิทยา เขาประเมินท่ามกลางเด็ก ที่กำลังเล่นเพลิน ๆ มีความสุขกายสุขใจ หากไม่พร้อมในการประเมิน นักจิตวิทยาก็จะหยุดไว้ก่อน แล้วค่อยนัดใหม่ ไม่มีการหักคะแนนใด ๆ แต่สามารถเขียนบันทึก caution ได้ และสามารถมาเขียนเชิงพฤติกรรมได้ เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนา การประมวลผลพัฒนาการ ทำในท่ามกลาง ความพร้อมของเด็ก ที่แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ฉะนั้น การประเมินพัฒนาการ ที่หนังสือฉบับนี้ โรงเรียนแห่งนี้กำลังปฏิบัตินั้น ที่เรียกว่า ทดสอบ แล้วบังคับการเข้าฐาน หักคะแนนเมื่อทำไม่ได้หรือร้องไห้ จึงไม่สามารถอ้างว่านี่คือการประเมินพัฒนาการเพื่อประโยชน์ของเด็ก (ละเมิดสิทธิเด็ก) ยิ่งเป็นการประเมินเพื่อรับสมัครเข้าเรียน ยิ่งสะท้อนว่า นี่แหละคือ High stake test ย้ำว่า การใช้ HighStakeTest (ระบบแพ้คัดออก) กับเด็กปฐมวัย จัดเป็น ระบบทารุณกรรมเด็ก ผิดหลักการตามเจตนารมณ์ของ พรบ.เด็กปฐมวัย
สำหรับ พ.ร.บ.ปฐมวัย ระบุว่า "เด็กปฐมวัย" หมายความว่า เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์ และให้หมายความรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา
- "การพัฒนาเด็กปฐมวัย" หมายความว่า การดูแล การพัฒนา และการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ดูแลเด็กปฐมวัย
- "ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย" หมายความว่า บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ซึ่งเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
- "สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย" หมายความว่า ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มของเด็กพิการ หรือเด็กซึ่งมีความต้องการพิเศษ สถานรับเลี้ยงเด็ก และสถานสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ซึ่งมีเด็กปฐมวัยอยู่ในความคุ้มครองดูแล หรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่เรียกชื่ออย่างอื่น รวมทั้งโรงเรียน ศูนย์การเรียน หน่วยงานการศึกษา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชน และสถาบันศาสนา ที่มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัย
- "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 54 ประกอบกับมาตรา 258 จ.ด้านการศึกษา (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้รัฐมีหน้าที่ด าเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาเพื่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ดังนั้นสมควรให้เด็กเล็กซึ่งเป็นเด็กปฐมวัยนั้นได้รับการคุ้มครองและดูแล มีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ได้รับการศึกษาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง ทั่วถึง และเสมอภาค มีการส่งเสริมการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กปฐมวัยในช่วงรอยต่อตั้งแต่ก่อนระดับอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้เติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่ดี และมีคุณภาพ รวมทั้งเพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนให้เป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้