อนุทิน-ศักดิ์สยาม ควงแขนตรวจสนามบินเบตง เตรียมเปิดพาณิชย์เดือนนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล - ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ร่วมตรวจความพร้อมสนามบินเบตง ในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการเดือนนี้
วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2565) ที่สนามบินเบตง ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการของสนามบินเบตง จังหวัดยะลา
โดยนายอนุทิน ใช้เครื่องบินส่วนบุคคลแบบใบพัด ส่วนนายศักดิ์สยาม ใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ที่ยืมจากคนรู้จัก โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม , นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม , นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน , นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย , นายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ด้านปฏิบัติการ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมคณะ
โดยมี พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 , นายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา , พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา , นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ
ทั้งนี้มีการใช้เครื่องบินที่แตกต่างกัน ก็เพื่อทดสอบการขึ้นลงของเครื่องบินแต่ละประเภท รวมทั้งระยะเวลาการบิน อีกทั้งเพื่อยืนยันความพร้อมของสนามบินเบตงในการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ รวมถึงพิสูจน์กรณีที่ระบุว่า เครื่องบินต้องไปตีโค้งนอกเขตประเทศไทยก่อนลงรันเวย์ ว่าจริงหรือไม่
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สนามบินเบตง ก่อสร้างขึ้นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง ของฃจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพเป็นภูเขาสูงชัน ให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่
ปัจจุบัน สนามบินเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ทั้งด้านกายภาพ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการภายใต้มาตรการ เฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย
แม้ว่าภูมิประเทศของพื้นที่สนามบินเบตง จะล้อมรอบด้วยภูเขา แต่เส้นทางการบินอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในการขึ้น-ลง ของอากาศยาน แลอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด
ที่ผ่านมามีการทดสอบการบินหลายครั้ง รวมทั้งทดลองเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบเช่าเหมาลำเที่ยวแรก โดยสายการบินนกแอร์ ใช้อากาศยานแบบ Q-400 ความจุผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง เส้นทางดอนเมือง - เบตง - ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่ - เบตง - หาดใหญ่ ซึ่งจะรองรับการเดินทางทั้งของประชาชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว จากปกติเดินทางโดยรถยนต์ 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 40 นาที
และเส้นทางดอนเมือง - เบตง - ดอนเมือง ใช้เวลา 1.40 ชั่วโมงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้สายการบินจะทำการปรับเวลาเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เดินทางให้เหมาะสมมากที่สุด และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ตาม แม้ท่าอากาศยานเบตงยังไม่เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ แต่เปิดให้บริการเที่ยวบินทางราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคล มาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ท่าอากาศยานเบตง มีศักยภาพของอาคารที่พักผู้โดยสาร รองรับได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือ 8 แสนคนต่อปี มีสถาปัตยกรรมตกแต่งด้วยไม้ไผ่ สวยงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีความยาวทางวิ่ง ขนาด 30×1,800 เมตร ลานจอดอากาศยานรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 80 ที่นั่ง ได้จำนวน 3 ลำ ในเวลาเดียวกัน และลานจอดรถยนต์สามารถจอดได้ 140 คัน
สำหรับการประชุมหารือร่วมกันในวันนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างป็นทางการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง สายการบิน และผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ได้ผลการประชุม ดังนี้
1. ให้ท่าอากาศยานเบตง เตรียมความพร้อมด้านกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเปิดให้บริการ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการทำการบิน ผ่านมาตรการลดค่าบริการขึ้นลงของอากาศยาน และค่าจอดอากาศยาน รวมถึงการหารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนให้สายการบินสามารถดำเนินการบินได้อย่างต่อเนื่อง
2. ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันสนับสนุน ผลักดันกิจกรรมในการเดินทางและการท่องเที่ยว เช่น ค่าโดยสารที่เหมาะสม การลดค่าธรรมเนียม จัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้า OTOP และความพร้อมในการคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกขั้นตอนการเดินทางของท่าอากาศยาน
( เจษฎา สิริโยทัย ผู้สื่อข่าว จ.ยะลา )