"นายจ้าง" ห้ามบังคับทำ OT หรือจ้างงานล่วงเวลา ฝ่าฝืนมีความผิดทั้งจำและปรับ
ตร.กำชับ "นายจ้าง" ต้องจ่ายล่วงเวลาให้กับลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ห้ามบังคับทำ OT หากลูกจ้างไม่เต็มใจ ฝ่าฝืนมีความผิดทั้งจำและปรับ
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในประเด็นเรื่อง "นายจ้าง" ห้ามบังคับทำ OT หรือการจ้างงานล่วงเวลา ฝ่าฝืนมีความผิดทั้งจำและปรับ
ล่าสุด (วันที่ 6 ก.พ. 65) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นข้อมูลจริง ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
โดยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ได้กำหนดห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาก่อนได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง ดังนั้นหาก "นายจ้าง" มีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกติหรือทำงานล่วงเวลา จะต้องให้ลูกจ้างยินยอมก่อนที่จะมีการทำงานล่วงเวลาทุกครั้ง อย่างไรก็ตามกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงาน มีความจำเป็นต้องทำติดต่อกันไป หากหยุดจะเสียแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาเท่าที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากลูกจ้าง
ทั้งนี้เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาแล้ว "นายจ้าง" จะต้องจ่ายค่าส่วงเวลาให้กับลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำด้วย และหากเป็นการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนที่ทำ หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถติดต่อ กองสวัสดิการแรงงาน กลุ่มงานกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน โทร 0 2660 2180 และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทร 1546 หรือ 1506