Exclusive ประธานทปอ.มรภ. ลั่น "ปิดหลักสูตร" เรียนจบตกงานแน่
ประธานทปอ.มรภ. เชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งเริ่มทยอย "ปิดหลักสูตร" มากขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรที่ไม่จำเป็นกับโลกอนาคตแล้ว ขณะที่ "คณะครุศาสตร์" ยังครองแชมป์คณะยอดนิยมผลิตครู แต่ทั้ง 38 สถาบันจับมือคงพันธกิจเพื่อพัฒนาท้องถิ่น
วายร้ายไวรัสโควิด-19 สาดซัดการศึกษาไทยในทุกระดับซวนเซ เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานทำเด็กหลุดจากระบบจำนวนมาก ระดับอุดมศึกษาถูกบังคับให้สู่โลกเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ 100% แต่เนื้อหาวิชาเดิมส่อเค้าถึงทางตัดต้อง "ปิดหลักสูตร" เรื่องนี้ประธานทปอ.มรภ.เปิดใจกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ถึงทางออก พันธกิจทิศทางอนาคตสถาบันผลิตครูของประเทศ
“มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังคงพันธกิจในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ที่ได้กำหนดภารกิจและปณิธานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และเร่งดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 -2579) ใน 4 ยุทธศาสตร์
ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ ด้วยการนำเรื่องการปฏิรูปการศึกษามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model"
ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.)ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ประธานทปอ.มรภ.) ประกาศชัดเจนถึงทิศทางและจุดยืนของมหาวิทยาลัยราชภัฏ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกไม่หยุด และส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว จนทำให้สถาบันการศึกษาต้องมีการปรับการเรียนการสอนครั้งใหญ่ไปสู่เทรนด์โลกแห่งการเรียนรู้แบบใหม่หรือการเรียนออนไลน์
ผศ.ดร.ลินดา เล่าให้ฟังว่า ไม่เฉพาะกลุ่มมรภ.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สถาบันการศึกษาทั่วประเทศก็ได้ผลกระทบเช่นกัน ซึ่งผลกระทบเกิดทั้งกับนักศึกษา คณาจารย์ และการจัดการเรียนการสอน ทำให้กิจกรรมทุกอย่างที่เคยดำเนินการช่วงภาวะปกติของทุกแห่งต้องเปลี่ยนแปลงไปหมด
โดยเฉพาะกระบวนการจัดการเรียนสอนต้องปรับเปลี่ยนทั้งประเทศ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ ที่เห็นชัดเจนเรื่องรูปแบบการสอนแบบเดิมต้องเปลี่ยนไปเป็นการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด เชื่อว่าสถาบันอุดมศึกษาจะสามารถจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ด้วยการบริหารจัดการของแต่ละสถาบัน
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นเรียนออนไลน์ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเจอปัญหาและอุปสรรคพอสมควร ถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี การทำสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการสอนก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปได้ง่าย แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไหนไม่พร้อมก็จะพบปัญหา
เริ่มจากอาจารย์ต้องรับภาระหนักมาก ทั้งต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งการใช้เทคโนโลยี เก่งวิธีการสอนผ่านออนไลน์ที่จะต้องมีการนำสื่อต่างๆ เข้ามาผสมผสานกัน และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยสอน เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้สนใจเข้ามาเรียน และต้องดูแลนักศึกษาด้วย ถ้าอาจารย์คนไหนปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ได้คงต้องลาออก
เพราะการเรียนการสอนและการทำกิจกรรมในช่วงโควิดจะใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งช่วงแรกอาจารย์และเด็กจะบ่นว่าไม่ค่อยชอบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพราะต้องปรับตัวเองใหม่หมด แต่พออยู่ไปนาน ๆ ทุกคนเริ่มปรับตัวได้
"ถึงวันนี้พอจะให้เด็กกลับไปเรียนแบบเดิม เด็กบอกว่าขอเรียนออนไลน์ดีกว่า เพราะตอนนี้เด็กติดการเรียนออนไลน์ไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น"
ผศ.ดร.ลินดา บอกอีกว่า ส่วนนักศึกษาก็ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งเป็นที่รู้อยู่แล้วว่าเด็กที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือระดับรากหญ้า พอมาเจอปัญหาโควิดอาจจะทำให้นักศึกษาบางคนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปเลย
ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องดูแลเด็กกลุ่มนี้ให้มากขึ้น ทั้งให้ทุนการศึกษา ลดค่าเล่าเรียน แจกซิม เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างที่ มบส. จะลดค่าเล่าเรียน หาทุนการศึกษาให้ และมีการตั้งกองทุนเพื่อช่วยเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ในช่วง 2-3 ปี มหาวิทยาลัยต้องหาเงินมาช่วยในส่วนนี้มากกว่า 30 ล้านบาท เชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นก็เจอปัญหาเหล่านี้เช่นกัน และให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มที่
ประธาน ทปอ.มรภ. เล่าต่อว่า นอกจากนี้โควิดยังทำให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้ทันสมัยและรองรับอาชีพใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับมหาวิทยาลัยที่ต้องมาทบทวนทุกหลักสูตร เพื่อดูว่าหลักสูตรไหนยังจำเป็นอยู่ และต้องปรับให้ทันสมัยมากขึ้น หลักสูตรไหนไม่จำเป็น หรือโบราณไปแล้วก็ต้อง "ปิดหลักสูตร" ไป
อย่างอาชีพที่เกี่ยวกับการเงินการธนาคารที่ต้องนั่งทำงานในธนาคาร คงไม่ต้องไปเรียนแล้ว เพราะตกงานแน่นอน ปัจจุบันคนไม่ค่อยเข้าไปรับบริการในธนาคาร แค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็ทำธุรกรรมได้หมด หรืออาชีพมัคคุเทศก์ยังสงสัยจะเป็นอาชีพที่มีความจีรังยั่งยืนหรือไม่ เพราะคนเริ่มไม่อาศัยไกด์นำเที่ยวแล้ว สามารถหาข้อมูลได้ทางอินเทอร์เน็ตและแหล่งอื่นๆ ได้เอง
เบื้องต้นหลักสูตรที่ มบส.จะต้องปิดมี 10 กว่าหลักสูตร เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตร์เพียวซาย ที่เรียนเฉพาะ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา เพราะเด็กแทบจะไม่เลือกมาเรียน ทำให้ต้องปรับเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มีการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เข้ามา เน้นสมรรถนะที่จำเป็นกับอาชีพใหม่ ๆ เมื่อเด็กเรียนจบออกไปแล้วจะสามารถนำความรู้หลากหลายที่ได้ไปประกอบอาชีพได้ทันที
อย่างไรก็ตามเชื่อว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งเริ่มทยอย "ปิดหลักสูตร" มากขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรที่ไม่จำเป็นกับโลกอนาคตแล้ว
เมื่อพูดถึงเทรนด์การเลือกคณะของเด็กที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏปี 2565 ประธาน ทปอ.มรภ บอกว่า คณะยอดฮิตของมรภ.ยังคงเป็นคณะครุศาสตร์ เพราะเรามีชื่อเสียงและความโดดเด่นในด้านการผลิตครู รองลงมาน่าจะเป็นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นเพื่อสุขภาพ
อย่างที่ มบส. เด็กจะมาเลือกเรียนหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ การแพทย์แผนไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หลักสูตรภาษาต่าง ๆ การดนตรี คณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรการจัดการธุรกิจและทรัพยากรมนุษย์ การตลาดดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
เหตุผลที่เด็กเลือกเรียนคณะดังกล่าว เพราะทุกคนรู้ว่าจบออกมาแล้วไม่ตกงานแน่นอน ที่สำคัญทุกหลักสูตรปรับใหม่หมด เน้นทักษะที่เด็กในศตวรรษที่ 21 ต้องมี เน้นสมรรถนะที่นักศึกษาต้องเรียนรู้มากกว่า 1 ศาสตร์ จบแล้วสามารถแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้
ขณะที่หลักสูตรสำคัญๆ และเป็นนโยบายของชาติที่อยากให้เด็กเรียน แต่เด็กมหาวิทยาลัยราชภัฎไม่ค่อยสนใจหรืออาจจะไม่กล้าเรียน เช่น หลักสูตรเทคโนโลยีการเกษตร อุตสาหกรรมชีวภาพ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีอัจฉริยะ เป็นต้น น่าจะเป็นเพราะคิดว่าเป็นหลักสูตรใหม่ เรียนยาก จบออกมาแล้วไม่รู้ว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร ซึ่งเรื่องนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องให้ความรู้กับเด็กมากขึ้นถึงความสำคัญของหลักสูตรดังกล่าว และประกันว่าจบออกมามีงานทำแน่นอน
ผศ.ดร.ลินดา บอกอีกว่า ส่วนเป้าหมายหลักของคนที่มาเรียนใน มรภ.เวลานี้ยังคงเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กในท้องถิ่น เพราะมรภ.เป็นสถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศและเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นมากที่สุด
ขณะเดียวกัน มรภ. ได้ขยายกลุ่มผู้ที่จะเข้ามาเรียนให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มวัยและคนวัยทำงานในตลาดแรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตน หรือผู้ที่ต้องการ Re-Skill ,Up Skill เข้ามาศึกษาต่อ โดยปรับหลักสูตรการเรียนให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามที่สนใจ มีทั้งหลักสูตรระยะยาว และหลักสูตรระยะสั้น สอนตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโทและปริญญาเอก
ส่วนการทำงานของมรภ.ก็จะไม่ทำเพียงลำพัง แต่จะทำร่วมกับมหาวิทยาลัยในกลุ่ม มรภ.ด้วยกันเอง มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการทำความร่วมมือกับสถานประกอบการ หรือหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลิตบัณฑิตจะได้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน และผู้ใช้บัณฑิตโดยตรงมากขึ้น
ส่วนที่ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ยังคงมีบทบาทในท้องถิ่น ชุมชน เข้าถึงชาวบ้านและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นเหมือนเดิมหรือไม่นั้นเรื่องนี้ ประธาน ทปอ.มรภ. ตอบชัดเจนว่า ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ และในอนาคต มรภ.ทั้ง 38 แห่งยังคงให้ความสำคัญ และจับมือกันทำหน้าที่พัฒนาท้องถิ่น เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน และชุมชนเหมือนเดิม
“โดยเฉพาะการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ลูกหลานคนในท้องถิ่นมากที่สุด การให้บริการทางวิชาการ ทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์คนในท้องถิ่น โดยการนำนักศึกษาและคณาจารย์ลงพื้นที่ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือชุมชน ทั้งด้านการเกษตร การประกอบอาชีพ การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
จากนี้ไปคงต้องจับตามองว่ามรภ.ทั้ง 38 แห่งจะคงทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างที่ประกาศไว้หรือไม่ และจะเป็นที่พึ่งของชุมชนและท้องถิ่นได้มากน้อยแค่ไหน คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์