ข่าว

เช็ค 5 "อาการติดโควิด" แบบไหนเข้าเกณฑ์เบิกค่ารักษาพยาบาล-รับชดเชยรายได้

เช็ค 5 "อาการติดโควิด" แบบไหนเข้าเกณฑ์เบิกค่ารักษาพยาบาล-รับชดเชยรายได้

08 ก.พ. 2565

5 "อาการติดโควิด" เช็คด่วนมีอาการแบบไหนเข้าเกณฑ์เบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวันได้จากบริษัทประกันภัย หากไม่เข้าข่ายอาการ 5 ข้อ หมดสิทธิได้ค่ารักษา เช็คด่วนก่อนพลาด

ภายหลังจากที่สมาคมประกันชีวิตไทย ได้ออกแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองการประกันภัยสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ "โควิด-19" ของบริษัทประกันชีวิต โดยต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จึงจะเบิกค่ารักษาได้นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วย "โควิด-19" แบบ "Home Isolation" ฉบับปรับปรุง เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 โดยประกาศฉบับดังกล่าว ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้กักตัวที่บ้าน "Home Isolation" 



ส่วนกรณีผู้ป่วย "โควิด-19" ที่จะเข้ารักษาเป็น ผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  1.  มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
  2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
  3. Oxygen Saturation < 94%
  4.  โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
  5.  สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง


กล่าวคือต้องมีอาการอย่างน้อย​ 1​ ข้อ​ จาก​ 5​ ข้อ​ จึงจะมีสิทธิ์​เรียกร้องสินไหมได้ ซึ่งหากผู้ป่วย "โควิด-19" ไม่เข้าข่าย​ 5​ ข้อ​ดังกล่าว ให้รักษาด้วยวิธี​ "Home​ Isolation" แทนซึ่งจะเบิกค่ารักษาไม่ได้ เนื่องจากสมาคมประกันชีวิตไทย ยกเหตุผลว่า ในระยะเวลาอันใกล้ "โควิด-19" จะเป็น โรคประจำถิ่น กระบวนการดูแลรักษาจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในอีกต่อไป

และผู้เข้ารับการรักษาใน Hospitel ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ดังนั้น การรักษาใน Hospitel เป็นเพียงการแยกกักตัว (isolation) ซึ่งไม่ควรถือว่าเป็นการเข้าพักรักษาตัวในรพ. (admit)ตามนิยามเดิม

 

 

เช็ค 5 \"อาการติดโควิด\" แบบไหนเข้าเกณฑ์เบิกค่ารักษาพยาบาล-รับชดเชยรายได้

 


ทั้งนี้หลักปฏิบัติดังกล่าว จะเริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้พร้อมกันทั้งธุรกิจ  ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป