เปิดวาร์ป "สุกัญญา เจริญวีรกุล" หญิงไทย จบ "เปรียญธรรม 9 ประโยค" อายุ 25 ปี
เปิดประวัติ อุบาสิกาหญิงของประเทศไทย "สุกัญญา เจริญวีรกุล" เรียนจบ "เปรียญธรรม 9 ประโยค" ใช้เวลาเพียง 10 ปี ดีกรีไม่ธรรมดา
หากจะพูดถึงการสอบเปรียญธรรม คนส่วนใหญ่น่าจะคิดว่า มีเพียงพระภิกษุสามเณรเท่านั้น หรือ หากเป็นฆราวาส ก็น่าจะเป็นผู้ชาย ที่จะศึกษาธรรมะ จนถึงขั้นสอบได้ถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค "คมชัดลึกออนไลน์" จะพาไปรู้จักกับหญิงสาวคนหนึ่ง ที่สามารถสอบ "เปรียญธรรม 9 ประโยคหญิงคนแรก" ด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น
"สุกัญญา เจริญวีรกุล" ปัจจุบันอายุ 27 ปี ชาติภูมิ เกิดวันที่ 30 เดือน 4 ปีจอไม้ 2121 (วันพระสุดท้ายของเดือนวิสาขบูชา) ตามปฏิทินทิเบต ประวัติของเธอเรียกว่าไม่ธรรมดา จบการศึกษาระดับมัธยม จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนการเรียนภาษา-ฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย (Gifted-ไทย) นอกจากนี้ ยังจบการศึกษา คณะอักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยในปี พ.ศ. 2560 เธอได้เข้าศึกษาภาคฤดูร้อน วิชาภาษาทิเบตคลาสสิกขั้นกลาง ณ Centre for Buddhist Studies at Rangjung Yeshe Institute, Kathmandu University ประเทศเนปาล และในปี พ.ศ. 2561 ได้เข้าศึกษาภาคฤดูร้อน วิชาภาษาทิเบตคลาสสิกขั้นสูง อีกครั้ง ณ Centre for Buddhist Studies at Rangjung Yeshe Institute, Kathmandu University ประเทศเนปาล
แผนกธรรม
- พ.ศ.2549 สอบได้ธรรมศึกษาชั้นตรี สำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
- พ.ศ.2550 สอบได้ธรรมศึกษาชั้นโท สำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
- พ.ศ.2551 สอบได้ธรรมศึกษาชั้นเอก สำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน
แผนกบาลี
- พ.ศ.2554 สอบได้บาลีศึกษาประโยค 1-2 สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ 16 ปี)
- พ.ศ.2555 สอบได้ บ.ศ.3 สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ 17 ปี)
- พ.ศ.2556 สอบได้ บ.ศ.4 สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ 18 ปี)
- พ.ศ.2557 สอบได้ บ.ศ.5 สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ (อายุ 19 ปี)
- พ.ศ.2558 สอบได้ บ.ศ.6 สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ 20 ปี)
- พ.ศ.2559 สอบได้ บ.ศ.7 สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ 21 ปี)
- พ.ศ.2560 สอบได้ บ.ศ.8 สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ 22 ปี)
- พ.ศ.2563 สอบได้ บ.ศ.9 สำนักเรียนวัดสามพระยา (อายุ 25 ปี)
เธอเริ่มต้นเรียนภาษาบาลีอย่างจริงจังตอนที่อยู่ชั้น ม.4 เทอม 2 โดยเริ่มต้นจากการเรียนตามวัดต่าง ๆ และสอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยค เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 รวมเวลาเรียนแผนกบาลีทั้งหมด 10 ปี 3 เดือน มีอายุเพียงแค่ 25 ปีเท่านั้น ซึ่งทางบ้านก็สนับสนุนเธออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเรียนพิเศษทางด้านบาลีไวยากรณ์ ตลอดจนไปให้กำลังใจที่วัดในขณะที่เธอเริ่มเรียนใหม่ ๆ เลยด้วย
ปัจจุบัน สุกัญญา เจริญวีรกุล เป็นนิสิตระดับปริญญาเอก (โทควบเอก) วิชาเอกภาษาบาลีสันสกฤต และพุทธศาสน์ศึกษา สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังเป็นนักแปลบทสวดมนต์และคัมภีร์ (ภาษาทิเบต-ไทย) ณ Rangjung Yeshe Thailand Vajrayana School, กลุ่มปฏิบัติ Dudjom Tersar (ประเทศไทย) และ Drikung Kagyu Dorje Ling Thailand และ นักแปลล่ามพระธรรมเทศนา (ภาษาทิเบต-ไทย) ณ Rangjung Yeshe Thailand Vajrayana School และ Samye Institute
นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ช่วยสอน และวิทยากรอบรมบาลี พ.ศ.2560 เป็นผู้ช่วยสอน (Teaching assistant) วิชาภาษาบาลี 1 และภาษาบาลี 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 (อาจารย์ ดร.สมพรนุช ตันศรีสุข เป็นอาจารย์ประจำวิชา) รวมทั้ง เป็นวิทยากรตรวจข้อสอบอบรมบาลี ชั้นประโยค ป.ธ.3 สำนักเรียนวัดสุทัศนเทพวราราม พ.ศ.2561 (พระมหาสิงหา สํฆสิรี ป.ธ.9 เป็นอาจารย์ประจำชั้น) ซึ่งประสบการณ์ของเธอ ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ เธอยังได้รับเกียรติประวัติ รางวัล และทุนอีกมากมาย
พระสุทธิพงษ์ อภิปุญฺโญ เคยกล่าวไว้ว่า การเรียนพระปริยัติแผนกบาลี เป็นเรื่องที่ยากมาก การที่พระ หรือเณร จะสอบมหาเปรียญได้นั้น จะต้องผ่านการเรียนมาอย่างหนัก ต้องแตกฉานในข้ออรรถข้อธรรม ต้องท่องจำมาอย่างหนัก จึงจะสอบผ่าน และได้รับการตั้งเป็นเปรียญ แต่เธอผู้นี้เป็นผู้หญิง หมายความว่าเธอต้องเรียน ต้องท่องจำ ข้ออรรถข้อธรรมมาอย่างหนัก จึงสอบผ่านบาลีศึกษาได้เปรียญธรรม ดังนั้น เปรียญธรรม 9 ประโยค ที่เธอได้รับการแต่งตั้ง และพัดขาวอันนี้ จึงเป็นเครื่องบ่งบอกได้เลยว่า การเป็นเปรียญธรรมได้นั้น ความสวยใช้ไม่ได้ เหมือนการเรียนทางโลก ต้องความรู้ความสามารถล้วน ๆ
จุดมุ่งหมายในชีวิตของเธอ คือ "ต้องการเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา และล่ามแปลพระธรรมเทศนาผู้เชี่ยวชาญภาษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต และภาษาสากลในปัจจุบัน เพื่อสืบทอดปณิธานของนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาในสมัยโบราณผู้เพียรพยายามเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา โดยไม่แบ่งแยกนิกาย และเพื่อช่วยให้ทุกชีวิตข้ามพ้นความทุกข์ในสังสารวัฏโดยปราศจากอคติ"
ขอบคุณภาพจาก : Sundarīkanyā Pema Charoenwerakul