ข่าว

พบหินภูเขาไฟลอยเกลื่อนหน้าหาดบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

พบหินภูเขาไฟลอยเกลื่อนหน้าหาดบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

09 ก.พ. 2565

พบหินภูเขาไฟลอยเกลื่อนหน้าหาดบริเวณอ่าวไทยตอนล่างหลายจังหวัด ดร.ธรณ์ ชี้ ไม่ต้องตระหนกตกใจ ไม่ได้เป็นสัญญาณบอกเหตุใดๆ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีพบหินภูเขาไฟลอยเข้ามาที่ชายหาดฝั่งอ่าวไทยตอนล่างหลายจังหวัด อาทิ นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า

"กรมทรัพยากรทางทะเลตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นหินมีรูพรุน สีเทา น้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ขนาด 0.3-3 เซนติเมตร น่าจะเป็นหินพัมมิช (Pumice) หรือหินภูเขาไฟ

คำถามน่าสนใจ มาจากไหน ? เพราะในอ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ

เมื่อลองเช็คข้อมูลการระเบิดทั่วโลกในช่วงผ่านมา อาจเป็นไปได้ว่ามาจากอินโดนีเซียที่มีการระเบิดหลายแห่งในช่วงมกราคม/ต้นเดือนกุมภาพันธ์

หินแบบนี้ลอยน้ำได้ไกล และลอยรวมอยู่เป็นแพ เมื่อลมจากทะเลจีนใต้พัดเข้าหาฝั่ง จึงเข้ามาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก 

เนื่องจากหินลอยอยู่บนผิวน้ำ และไม่ได้แตกตัวละลายลงไปในน้ำ จึงไม่น่าจะมีผลกระทบกับสัตว์น้ำในทะเลหรือตามพื้นท้องทะเล 

เมื่อหินมากองบนฝั่ง อาจมีผลต่อสัตว์ขนาดเล็กบนชายหาดบ้าง แต่คงไม่มากเท่าไหร่

สำหรับกิจกรรมผู้คนชายฝั่ง เช่น ประมง เดินเรือ คงไม่ได้รับผลกระทบมากมาย เพราะไม่ได้มีเต็มทะเล

นำมาให้เพื่อนธรณ์ดูเพราะนาน ๆ มาสักครั้ง ไม่ต้องตระหนกตกใจ ไม่ได้เป็นสัญญาณบอกเหตุใดๆ เพราะภูเขาไฟระเบิดไปนานแล้วหินถึงลอยมาถึงบ้านเรา

อ่าวไทยไม่มีภูเขาไฟ ใกล้สุดต้องไปทางอินโดนีเซีย หากเกิดอะไรขึ้น คลื่นสึนามิใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะมาถึงบ้านเรา และคงมีขนาดไม่ใหญ่นักครับ"

พบหินภูเขาไฟลอยเกลื่อนหน้าหาดบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง

จากกรณีเดียวกัน นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สำรวจหินภูเขาไฟที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาดบ้านทอน 

พบหินภูเขาไฟลอยเกลื่อนหน้าหาดบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง
 

ด้าน นางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว  ขนาดอนุภาคตะกอนประมาณ 0.3 - 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือที่เรียกว่าหินภูเขาไฟ เป็นหินประเภท หินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา  ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลว และแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก  

โดยพบกระจายทั่วไปตลอดแนวชายหาดจังหวัดสงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบล ชายฝั่งทะเลของอำเภอสทิงพระ ได้แก่ วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมถึงจากการได้รับรายงานในพื้นที่อื่นๆ เช่น ชายหาดบ้านทอน (นราธิวาส) ปะนาเระ (ปัตตานี) และหัวไทร (นครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ยังพบหินประเภทเดียวกันนี้ลอยเกลื่อนเป็นแพตามผิวหน้าน้ำทะเล จากการสอบถามชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว