อีกก้าวของเทคโนโลยีอวกาศไทย GISTDA ทดลองส่ง "ผัดกะเพรา" สู่ชั้นบรรยากาศ
GISTDA เดินหน้าโครงการวิทยาศาสตร์อวกาศ ร่วมทดลองส่ง "ผัดกะเพรา" ไปกับบอลลูน high-altitude พร้อมเผย อีกไม่นานคนไทยอาจได้เห็นท่าอวกาศยานขนาดเล็ก
วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้จัดกิจกรรมส่ง "ผัดกะเพรา" ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ ซึ่งบอลลูนดังกล่าวจะลอยไปถึงระดับความสูงที่มีบรรยากาศรอบข้างใกล้เคียงกับสภาวะอวกาศ เพื่อทดสอบและศึกษาว่า อาหารไทยขึ้นชื่อ “ผัดกะเพรา” จะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพหรือไม่
โดยจัดกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ภายในงานมี พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมคณะผู้บริหาร และนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย
นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการด้านสร้างเสริมพันธมิตรและเครือข่ายองค์ความรู้ของ GISTDA กล่าวว่า การทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้ของ GISTDA และพันธมิตร จะใช้เป็นต้นแบบและแนวทางในการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หรือเป็นการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ที่เรียกว่า High-Altitude Experiment Platform ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศ (Space Experiment Platform) ของ GISTDA
เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีบริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ซึ่งการทดลองครั้งนี้นอกจากจะสร้างรูปแบบการศึกษาวิจัยที่ไม่ได้อยู่ในห้องแลป หรือบนพื้นโลกแล้ว ยังเป็นต้นแบบการพัฒนาใช้ประโยชน์ห้วงอากาศที่มีความสูงที่เลยเพดานบินขึ้นไปและไม่ถึงอวกาศ คืออยู่ระหว่าง 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก ซึ่งนับเป็นอีกก้าวในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งนี้นอกจากจะใช้อาหาร ผัดกะเพรา ในการทำวิจัยแล้ว ยังสามารถนำงานด้านชีวะและฟิสิกส์มาทดลองได้ด้วย
ด้าน ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู วิศวกรชำนาญการของ GISTDA หัวหน้าโครงการ National Space Exploration กล่าวเสริมว่า ความจริงแล้วอาหารไทยทุกชนิดและทุกประเภท มีความสำคัญที่ควรต้องนำไปทดลองศึกษาถึงคุณค่าทางอาหารในอวกาศ ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้ว่าคุณค่าและสารอาหารแบบไหนจะหายไปหรือมีผลกระทบใด ๆ ต่อสภาวะในอวกาศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้อาหารไทยที่นอกจะได้ชื่อว่าเป็นครัวโลกแล้วก็จะกลายไปเป็นครัวอวกาศได้ในอนาคตอีกด้วย
การศึกษาด้านอาหารไทยในอวกาศจะนำไปสู่การผลิตอาหารให้กับนักบินอวกาศได้ต่อไป เหตุผลที่เลือก ผัดกะเพรา มาใช้ทดลองก็เพราะว่าเราสามารถใช้อาหารอะไรก็ได้ในท้องตลาด และผัดกะเพราถือเป็นอาหารพื้นฐานที่ขึ้นชื่อของคนไทย ที่รสชาติอร่อย ปรุงง่าย ราคาไม่แพง
สำหรับ high-altitude balloon ในปัจจุบันยังทำอะไรได้อีกมาก และระยะเวลาอันใกล้นี้ คนไทยอาจได้เห็น GISTDA พัฒนาท่าอวกาศยานขนาดเล็ก หรือ Small Spaceport ที่ส่งดาวเทียมด้วยจรวดที่มีบอลลูนเป็นฐานยิงจรวด จุดเด่นคือไม่เปลืองพื้นที่ประเทศไทย ไม่มีการเวนคืนที่ดิน ประหยัด และปลอดภัย จากนี้ขอให้ติดตามชมความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศขั้นสูงที่จะพัฒนาโดย GISTDA และหน่วยงานพันธมิตร
( ภาพ/ข่าว รณกฤต วรณันวรกุล ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครสวรรค์)