รัดแน่นๆ เหนือบาดแผล เป็นความเชื่อเก่า หากโดน "งูกัด" วิธีปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง ก่อนจะสายเกินไป ไม่ควรขันชะเนาะ อาจส่งผลร้ายกว่าพิษงู
เชื่อว่าหลายคนคงมีความเข้าใจว่า "งูกัด" ต้องรัดแน่นๆ เหนือแผล เพื่อกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ เรื่องนี้กลายเป็นมุกตลกไปแล้ว เพราะแท้จริงแล้วการรัดแน่นเหนือแผล อาจไม่ใช่แค่กันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ แต่อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อตาย หรือร้ายแรงสุด อาจสูญเสียอวัยวะนั้น
คมชัดลึกออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง คุณศรานนท์ เจริญสุข Chief of Serpentarium Operations Siam Serpentarium ให้ข้อมูลการปฐมพยาบาล เมื่อถูก "งูกัด"อย่างถูกต้อง ดังนี้
หากถูก "งูกัด" วิธีที่ดีที่สุด คือถึงมือแพทย์อย่างรวดเร็วที่สุด ส่วนการสังเกตรอย "งูกัด" ถ้าเป็นรอยกัดของงูพิษ จะปรากฏรอยเขี้ยวงูเป็น 2 จุด อาจเป็นรอยลากยาว ขณะกระชากหนี ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว แต่นั่น เป็นเพียงอุดมคติของการคิดว่า เป็นการถูก "งูกัด" แต่ในความจริง อาจจะไม่ได้เกิดในรูปแบบนั้นเสมอไป เนื่องจากอาจจะถูกกัดแบบถาก ๆ หรือ โดนเพียงเขี้ยวใดเที่ยวหนึ่ง ทางที่ดีที่สุดคือถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด
สำหรับพิษงู มีด้วยกัน 3 ประเภทขึ้นอยู่กับชนิดของงู
- พิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) เกิดจากงูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยมและงูทับสมิงคลา ส่งผลให้เกิดอาการ เริ่มจากแขนไม่มีแรง ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และอาจถึงแก่ชีวิต
- พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด (Hematotoxin) เกิดจากงูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ โดยอาจส่งผลให้มีอาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และถึงชีวิตในที่สุด
- พิษต่อกล้ามเนื้อ (Mytotoxin) เกิดจากงูทะเล สำหรับอาการ เริ่มแรก ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมาปัสสาวะสีแดงคล้ำ จากกล้ามเนื้อถูกทำลาย ตามด้วยไตวาย และหายใจล้มเหลวจากการถูกพิษทำลายกล้ามเนื้อ
การปฐมพยาบาลหลังจากถูก "งูกัด" ที่ถูกต้อง คือ
- พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และพยายามจำลักษณะหรือสายพันธุ์ของงูให้ได้ ไม่ต้องเสียเวลาจับซากงู หรืองูตัวนั้นไปให้แพทย์ดู
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- ดามบริเวณที่ถูกงูกัด ด้วยผ้ายืดกระชับกล้ามเนื้อ ดามด้วยวัสดุที่มีลักษณะแข็ง เช่นท่อนไม้ท่อ PVC หรือกระดาษม้วนให้แข็ง เช่นหากถูกกัดที่มือให้พันตั้งแต่บริเวณมือไปถึงข้อมือจนถึงข้อศอก แล้วใช้ผ้าสามเหลี่ยมคล้องไว้ที่คอหรือหน้าอก เพื่อให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดเป็นต้น
- พยายามเคลื่อนไหวตัวผู้ป่วยให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกกัด เพื่อป้องกันการสูบฉีดของเลือด
- ห้ามดูดพิษจากบาดแผลงูกัด
- ห้ามใช้เซรุ่มด้วยตัวเอง ให้เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องมีการประเมินว่าจำเป็นต้องฉีดเซรุ่มหรือไม่ และต้องใช้เซรุ่มประเภทไหน จากการใช้เซรุ่มมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย และอาจเกิดการแพ้เซรุ่มได้
- ห้ามใช้สมุนไพร หรือควรใช้ควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน และควรทำให้สะอาดที่สุด และไม่ควรเคี้ยวสมุนไพรมาใส่แผล เพราะในน้ำลายมนุษย์ มีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก อาจทำให้แผลติดเชื้อได้
- ห้ามดูดพิษงูจากแผล
- ห้ามกรีดแผลเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ห้ามใช้ไฟช๊อต หรือไฟเผา
- ส่วนการทยาสีฟัน แค่ทำให้เย็น ไม่มีสรรพคุณอะไรในการป้องกันพิษงู
ในอดีตที่ผ่านมาอาจจะเคยถูกสอนมาว่าเมื่อถูก "งูกัด" ให้ใช้ผ้าพันแน่นๆเพื่อกันพิษแล่นเข้าสู่หัวใจ หากใช้วิธีการขันชะเนาะที่ถูกต้อง คือ ไม่ขันชะเนาะแบบรัดจนแน่นเกินไป รัดให้แน่นพอประมาณให้นิ้วสอดได้ แล้วคลายออกทุก10-15 นาที เพื่อเป็นการชะลอให้พิษเข้าสู่ระบบหลักของร่างกายให้ช้าที่สุด
เนื่องจากปกติ กลไกของมนุษย์มีระบบกลไกในการต้านทานหรือ กำจัดพิษได้ ที่มีปริมาณน้อย ในกรณีที่เป็นพิษงูที่มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่ออย่าง เช่น งูกะปะหรืองูเขียวหางไหม้ หากรัดแน่นจนเกินไป อาจส่งผลให้พิษคั่งอยู่ในอวัยวะเหล่านั้น และทำลายเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว อาจนำไปซึ่งการสูญเสียอวัยวะเหล่านั้นได้
ดังนั้นหลักการปฐมพยาบาลการถูก "งูกัด" ที่ถูกต้องจึงเป็นการชะลอพิษ ให้เข้าสู่ระบบหลักร่างกายได้ช้าที่สุด ดังนั้นการพันผ้ายืดกระชับแผลให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด ซึ่งเพียงพอต่อการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูก "งูกัด" ได้
ด้านนายนิรุทธ์ ชมงาม หรือ Nick Wildlife ประธานกลุ่มอสรพิษวิทยา เปิดเผยกับทีมข่าว คมชัดลึกออนไลน์ ว่า หากเรามาไล่ลำดับวิธีการปฐมพยาบาลเมื่อถูก "งูกัด" ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลากหลายวิธี แต่การแพทย์สมัยใหม่ที่มีการศึกษา การวิจัยกันมาพบว่าวิธีที่ดีที่สุด คือการทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยที่สุด เนื่องจากเมื่อถูก "งูกัด"ปัจจัยที่จะทำให้พิษ เข้าสู่ร่างกายเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย รวมไปถึงตำแหน่งที่ถูกกัดและปริมาณพิษงูที่ได้รับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการเคลื่อนไหวของร่างกาย หากผู้ถูก "งูกัด" มีความตื่นตระหนกตกใจ มีการเคลื่อนไหวเร็วเช่นการวิ่งสิ่งที่ตามมาคือ อัตราการกระจายของพิษงูจะสูงขึ้นเนื่องจากเลือดสูบฉีด
สำหรับวิธีการขันชะเนาะให้แน่นเป็นวิธีที่ เก่า และเป็นความเชื่อที่ว่า ถูก "งูกัด" บริเวณไหนให้รัดบริเวณเหนือบาดแผลให้แน่น เพื่อไม่ให้ผิดพลาดเข้าสู่หัวใจ เรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องเข้าใจระบบพิษของงูก่อน ว่าพิษไม่ได้แล่นเข้าสู่หัวใจ อย่างเดียวอย่างที่เราเชื่อกัน เนื่องจากพิษงูที่อันตรายที่มีผลต่อชีวิตส่วนมาก เป็นพิษงูที่มีผลต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา ซึ่งหากพิษงูเหล่านี้กระจายเข้าสู่อวัยวะส่วนใดก็จะเข้าไปขัดขวางการทำงาน ของอวัยวะที่มีระบบประสาทของระบบประสาทสั่งการ อาจจะทำให้เกิดอาการเป็นอัมพาต หนังตาตก กรามค้าง เคลื่อนไหวช้า เซื่องซึม ซึ่งพิษจะกระจายไปตามอวัยวะส่วนนั้นๆ
ดังนั้นการขันชะเนาะเพื่อให้พิษอยู่แต่บริเวณที่ถูกกัดเพียงจุดเดียว ไม่ใช่เรื่องถูกต้องเนื่องจากพิษยังสามารถที่จะแพร่กระจายไปได้ เพราะพิษจะเข้าไปทางหลอดเลือดและกล้ามเนื้อ อาจจะทำให้การกระจายของพิษช้าได้แต่ผลเสียที่จะตามมาคือ ระบบเลือดไม่หมุนเวียน ทำให้เกิดอาการเนื้อตายของอวัยวะส่วนดังกล่าว และพิษของงูบางชนิดมีผลในการทำลายเนื้อเยื่ออีกด้วย นำไปถึงการสูญเสียอวัยวะส่วนดังกล่าวได้
สำหรับอาการเนื้อตายอาจเกิดได้ในพิษงูหลายประเภทเช่นงูกะปะ งูเห่า งูจงอาง กลุ่มงูเขียวหางไหม้ พิษของงูเหล่านี้ อาจส่งผลทำให้เกิดอาการเนื้อตายได้
สำหรับงูพิษที่เราควรรู้จัก มีอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด ที่เป็นงูพิษที่มีความสำคัญทางด้านการแพทย์ ประกอบไปด้วย
1. งูเห่า
2.งูจงอาง
3. งูสามเหลี่ยม
4. งูทับสมิงคลา
5.งูกะปะ
6.งูแมวเซา
7.งูเขียวหางไหม้
ทั้ง 7 ชนิดนี้เป็นงูพิษที่สามารถพบได้บ่อย และพบได้โดยทั่วไป และมีพิษร้ายแรงหากถูกงูเหล่านี้กัด ต้องไปโรงพยาบาลโดยทันที
สำหรับกรณีการดราม่า เกี่ยวกับการที่แพทย์ไม่ฉีดเซรุ่มให้ผู้ที่ถูก "งูกัด" กรณีดังกล่าว ต้องทำความเข้าใจว่าการฉีดเซรุ่ม ไม่จำเป็นต้องฉีดในทุกคนที่ถูก "งูกัด" ขึ้นอยู่กับแพทย์ จะวินิจฉัยถึงความจำเป็น ซึ่งในบางครั้งการถูกงูกัดอาจไม่ได้ถูกพิษงู ก็เป็นได้แค่จึงจำเป็นที่จะต้องวินิจฉัย อาการก่อน ถึงจะฉีดเซรุ่มให้เนื่องจากการฉีดเซรุ่มเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยงต่ออาการแพ้ และผลข้างเคียงอีกด้วย
ข้อควรระวัง
- อาการของพิษงูเกิดได้ตั้งแต่ 15-30 นาที หลังถูกกัด หรือ อาจนานถึง 9 ชม. จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง
- การฉีดเซรุ่มแก้พิษงู ส่วนใหญ่ทำมาจากม้า ซึ่งอาจแพ้ได้ จึงควรฉีดต่อเมื่อมีอาการของพิษงูเท่านั้น
ในกรณีถูก "งูกัด" แต่ไม่สามารถจดจำลักษณะของงูหรือไม่ทราบชนิดของงูที่กัดได้ ให้ผู้ช่วยเหลือ และผู้ป่วยพึงสงสัยไว้ก่อนได้เลยว่างูที่กัดอาจมีพิษ และรีบติดต่อขอความช่วยเหลือจากแพทย์โดยทันที