ข่าว

"เงินบาท" แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 เดือน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

"เงินบาท" แตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 เดือน จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

13 ก.พ. 2565

"เงินบาท" แตะแข็งค่าที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน ขณะที่หุ้นไทยปรับขึ้นจากเงินทุนไหลเข้า ส่วนปลายสัปดาห์จากความกังวลเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของบจ.ไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า “เงินบาท” แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนครึ่งที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติ โดยระหว่างวันที่ 7-11 ก.พ. มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และ 4.7 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงในช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 7.5% ในเดือนมกราคม ซึ่งหนุนให้ตลาดประเมินโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps.ในการประชุมเฟดเดือนมีนาคมนี้

 

ในวันศุกร์ (11 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.68 เทียบกับระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 ก.พ. 2565) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของ "เงินบาท" ที่ 32.40-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้าและราคาส่งออก ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนมกราคม ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือนก.พ. ตลอดจนรายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 25-26 มกราคม

 

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่นและอังกฤษด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยเผชิญแรงขายปลายสัปดาห์กลับลงมาปิดต่ำกว่า 1,700 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,699.20 จุด แต่ยังเพิ่มขึ้น 1.49% จากสัปดาห์ก่อน

 

ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 100,856.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.96% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.58% มาปิดที่ 639.72 จุด

 

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นท่ามกลางแรงหนุนจากแรงซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 ทั้งนี้ แรงซื้อกระจายไปในหุ้นขนาดใหญ่หลายอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และ ICT

 

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงบางส่วนในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หลังเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับยอดผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 ก.พ.)บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,685 และ 1,675 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,710 และ 1,725 จุด ตามลำดับ

 

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของบจ.ไทย

 

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองเดือนม.ค. รวมถึงบันทึกการประชุมเฟด

 

ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคเดือนม.ค. ของจีน

 

ขอบคุณที่มาข้อมูล: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย