ข่าว

กองอำนวยการน้ำ-กรมอุทกศาสตร์ เตือนน้ำประปาเค็ม เหตุจากน้ำทะเลหนุนสูง

กองอำนวยการน้ำ-กรมอุทกศาสตร์ เตือนน้ำประปาเค็ม เหตุจากน้ำทะเลหนุนสูง

13 ก.พ. 2565

ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โดย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กองอำนอยการ แห่งชาติ ออกประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565 เรื่อง "เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงและความเค็มรุกตัวบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา" ความว่า

 

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามข้อมูลระดับน้ำทำนายสูงสุด - ต่ำสุด ปี 2565 ของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ คาดการณ์จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน 2565 โดยข้อมูลฐาน น้ำขึ้นสูงสุดแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสถานีป้อมพระจุลจอมเกล้าจะเกิดภาวะน้ำทะเลขึ้นเต็มที่ ในช่วงวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2565 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.50 ม.รทก. และในช่วงวันที่ 16-18 มีนาคม 2565 ระดับน้ำอยู่ที่ +1.25 ม.รทก. ประกอบกับอิทธิพลของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ในช่วงดังกล่าว เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ รวมทั้งเกิดน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำใช้อุปโภคบริโภค และการใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้

 

กองอำนวยการน้ำ-กรมอุทกศาสตร์ เตือนน้ำประปาเค็ม เหตุจากน้ำทะเลหนุนสูง

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

  1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำ และเสริมกันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่ อาศัย อยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า
  2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
  3. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว และตรวจวัดคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เชื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและเร่งผลักดันน้ำเค็มโดยเร็ว
  4. ปรับแผนการผลิตน้ำประปาเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อคุณภาพน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลผลกระทบที่ อาจเกิดขึ้นต่อการน้ำใช้อุปโภคบริโภค และรวมทั้งการใช้น้ำ เพื่อการเกษตรบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประชาชนทราบล่วงหน้า

 

 

กองอำนวยการน้ำ-กรมอุทกศาสตร์ เตือนน้ำประปาเค็ม เหตุจากน้ำทะเลหนุนสูง

 

ขณะที่ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565 เว็บไซต์ของ กรมอุทกศาสตร์ แจ้งว่า เนื่องจากในวันที่ 14-19 ก.พ.2565 ระหว่างเวลาประมาณ 06.00-09.00 น. เป็นช่วงที่ น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยคาดหมายว่า ที่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียงระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70 – 1.90 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระดับน้ำขึ้นสูงดังกล่าว และติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าไว้ที่ “สภาวะน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา” ในเว็บไซต์ของ กรมอุทกศาสตร์ www.hydro.navy.mi.th/chaophraya/rtnhq.htm