"อัตราการเกิด" เด็กไทย 2564 ลดลงดิ่งสุด หวั่นอนาคต ขาดแคลนวัยแรงงาน
"อัตราการเกิด" เด็กไทยปี 2564 ดิ่งสุดในประวัติศาสตร์ เหตุเผชิญกับโควิด และ เศรษฐกิจตกต่ำ สธ.หวั่นอนาคต ขาดแคลนวัยแรงงาน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร "อัตราการเกิดข" เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และกำลังจะก้าวเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" อย่างสมบูรณ์ ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า มีค่านิยมอยู่เป็นโสด รักความอิสระ มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองการมีบุตรเป็นภาระ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรสูงเกินไป มาตรการที่จูงใจให้คนต้องการมีบุตรตามที่ครอบครัวต้องการมีน้อย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนชะลอการมีบุตร บางส่วนประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาได้
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันมาตรการสำคัญ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ อาทิ การให้สิทธิการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุ และทุกการตั้งครรภ์ การสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์ คนไทยทุกคน ทุกสิทธิ การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25 - 59 ปี และการเพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองซิฟิลิส และการตรวจยืนยันในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย และเร่งผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อลดภาระ และความกังวลใจให้กับพ่อแม่ระหว่างทำงาน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2513 ส่งผลให้ "อัตราการเกิดลดลง" จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน จำนวนการเกิดเหลือเพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุด นับจากการประกาศ นโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ
เช่นเดียวกับอัตราเจริญพันธุ์รวม หรือ TFR ที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง หากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า ในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56.0 ในขณะที่วัยสูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร
สอดรับกับ ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้โพสต์ภาพและข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Por Tunyawat ซึ่งเป็นภาพกราฟแสดงจำนวนประชากรเกิดในประเทศไทยปี 2536-2564 โดยในกราฟพบว่า จำนวนการเกิดของเด็กมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 5 แสนคน ซึ่ง ดร.ธันยวัต ระบุข้อความว่า
"ดิ่งกว่ามูลค่าเหรียญคริปโต ก็จำนวนประชากรเกิดในประเทศไทยนี่ล่ะ ปี 2564 ที่ผ่านมาจำนวนการเกิดต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศ ตัวเลขนี้น่ากลัวและแนวโน้มของกราฟคงไม่ดีขึ้นแน่ นอกจากนี้ปีที่ผ่านมาอัตราการตายสูงกว่าอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ด้วย คาดการณ์ไม่ถูกเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต"