"ลินดา" หนุนจัด "หลักสูตร Sandbox" ชี้ปลดล็อกให้อิสระมหา’ลัย
"ลินดา" หนุนจัด "หลักสูตร Sandbox" ชี้ปลดล็อกให้อิสระมหา’ลัย ทำตามความพร้อม สามารถโดดเด่น แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ ทำให้เด็กมีทางเลือกมากขึ้น ระบุเด็กบางคนอยากจะเรียนเฉพาะบางสาขาที่ชอบเท่านั้น
ดูเหมือนเป็นจะเป็นเรื่องใหม่ในแวดวงการศึกษาไทย หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)เสนอ เรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือ "หลักสูตร Sandbox" ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)เสนอ เรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เพื่อให้จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาใหม่ให้ทันต่อบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เรื่องนี้ตนเห็นด้วย เพราะเป็นการปลดล็อกที่ดีมาก
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวอีกว่า เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้ลองทำอะไรที่เป็นอิสระ ตามความพร้อม ความสามารถและความโดดเด่นของแต่ละสถาบัน
"ที่สำคัญยังจะช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าเด็กบางคนเมื่อมาเรียนในระบบมหาวิทยาลัยแล้วพบว่าการเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้ หรือเด็กบางคนก็อยากจะเรียนเฉพาะบางสาขาที่ชอบเท่านั้น"ผศ.ดร.ลินดา กล่าว
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวต่อว่า ดังนั้น "หลักสูตร Sandbox" น่าจะเป็นอีกทางเลือกและเปิดกว้างให้แก่เด็กๆ ได้มีโอกาสเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบมากขึ้น รวมถึงคนกลุ่มวัยต่างๆก็น่าจะมาเลือกหลักสูตรนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวต่อว่า ส่วน "หลักสูตร Sandbox" นี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นหลักสูตรใหม่และได้มอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการไปช่วยดูหลักสูตรดังกล่าวแล้ว ซึ่งในการจัดทำหลักสูตรต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่ อว. กำหนด
“ เมื่อทำหลักสูตรเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะต้องนำเสนอสภามหาวิทยาลัยและอว.ด้วย อย่างไรก็ตามเท่าดูมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งก็น่าจะสนใจ "หลักสูตร Sandbox" ซึ่งดิฉันอาจจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ด้วย เพื่อดูว่าในทปอ.มรภ.จะมีแนวทางเกี่ยวกับหลักสูตรนี้อย่างไร”ผศ.ดร.ลินดา กล่าว
ผศ.ดร.ลินดา กล่าวด้วยว่า หรือจะทำตามความโดดเด่นของแต่ละแห่ง เพราะที่ผ่านมาในกลุ่มราชภัฏก็จะร่วมมือกันทำงานในหลายโครงการและทำมาอย่างต่อเนื่อง