รับมือผู้ป่วย "โควิด19" เพิ่มศูนย์พักคอยหากในกรุงมีอัตราครองเตียงเกิน 80%
เตรียมรับมือผู้ป่วย "โควิด19" สั่งการ 50 เขตเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ติดเชื้อเพิ่ม หากมีผู้ป่วยครองเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกิน 80%
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ กทม. ได้รายงานสถานการณ์ผู้ป่วย "โควิด19" รวมถึงการเตรียมพร้อมสถานพยาบาลเพื่อผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยในวันนี้ (15 ก.พ.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ จำนวน 3,180 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-13 ก.พ.ที่ผ่านมา พบการระบาดในสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล – มัธยมศึกษาหลายแห่ง โดยพบผู้ติดเชื้อทั้งในกลุ่มครู นักเรียน และกลุ่มนักเรียนที่เก็บตัวฝึกซ้อมในโรงเรียน จากการสอบสวนโรคพบว่า สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงในการระบาด ได้แก่ การติดเชื้อจากบุคคลในครอบครัว การติดเชื้อของครูผู้สอน การติดเชื้อจากจุดสัมผัสที่ใช้ร่วมกันห้องน้ำ และการทำกิจกรรมร่วมกันโดยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกัน การดื่มน้ำจากกระติกเดียวกัน และการรวมกลุ่ม พูดคุยโดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย
การติดเชื้อ "โควิด19" ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากผู้ที่มาจากข้างนอกศูนย์ฯ สัมผัสเชื้อหรือติดเชื้อ และนำมาแพร่สู่ผู้สูงอายุในศูนย์ โดยขณะนี้มีอัตราผู้ป่วยครองเตียงในรพ.ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักการแพทย์ ร้อยละ 94.38 โรงพยาบาลสนาม ร้อยละ 83.68 Hospitel ร้อยละ 100 และศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ร้อยละ 36.28 อย่างไรก็ตามในขณะนี้กรุงเทพมหานครได้ให้บริการวัคซีนกับกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์) เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการเกิดอาการรุนแรงของโรค ไปแล้วกว่า 2,214,467 คน โดยเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 90.72 เข็มที่ 2 ร้อยละ 82.69 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 41.02
ทั้งนี้ เนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วย "โควิด19" จำนวนมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ 50 เขตพิจารณาเปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อเพิ่มเติม ในกรณีที่ศูนย์พักคอยฯซึ่งเปิดดำเนินการอยู่แล้วมีจำนวนผู้ป่วยครองเตียงมากกว่า ร้อยละ 80 และให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบช่องทางการติดต่อ หากพบว่าตนเองติดเชื้อ โดยสามารถโทรแจ้งได้ที่สายด่วน สปสช.1330 กด 14 และศูนย์EOC ของ 50 สำนักงานเขต ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้แก่สถานบริการที่แจ้งความประสงค์ปรับรูปแบบร้านเป็นร้านอาหารและได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 483 แห่ง ให้เข้ารับการประเมินมาตรฐาน Thai Stop Covid2Plus เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหรือผู้มาใช้บริการ