ดึงเครดิตบูโรคุมยอด "หนี้ครู" ครูเหน่ง ตรีนุช ลั่นกู้ใหม่ต้องไม่เกิน 70%
"ครูเหน่ง ตรีนุช" โชว์โครงการ สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย 2 วันแรก ครูเข้าลงทะเบียนออนไลน์โครงการแก้หนี้แล้ว เกือบ 7,400 ราย เป้าหมายให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตั้งสถานีช่วยไกล่เกลี่ยแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ ดึงเครดิตบูโรคุมยอด "หนี้ครู" กู้ใหม่ต้องไม่เกิน 70%
มีความพยายามแก้ปัญหา “หนี้ครู” มาแล้วหลายครั้ง และในทุกรัฐบาล ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนเรื่องนี้อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน และให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน
รวมถึงปัญหาหนี้สินของครู ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการช่วยแก้ไขหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย”
โดยเปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์เพื่อแจ้งความประสงค์ ในการเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยในรอบแรกสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.-14 มี.ค. 2565
“ซึ่งในรอบแรกนี้ หลังเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว 2 วัน มีผู้มาลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,364 ราย เป้าหมายการดำเนินงานครั้งนี้ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภาพรวมอย่างเป็นระบบ” นางสาวตรีนุช กล่าว
นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายของการแก้ไขหนี้ครูนั้น เพื่อต้องการยุบยอดหนี้ให้ลดลง หรือลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง รวมถึงการช่วยบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีรายได้ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนในการใช้จ่าย อีกทั้งยังทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษา
“และยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลของกระทรวงฯ เกี่ยวกับภาระหนี้สินครู โดยเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาครูที่มีหนี้สิน” นางสตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้ครูที่มีหนี้สินทุกคนในสหกรณ์ออมทรัพย์ แนวทางในการช่วยเหลือ ก็คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยอยู่ระหว่าง 0.05-1.00% ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนี้แล้วรวม 70 แห่ง จากสหกรณ์ทั้งหมด 108 แห่งทั้วประเทศ โดยมีสหกรณ์ 10 แห่ง ที่ลดดอกเบี้ยลงเหลือต่ำกว่า 5% การแก้ไข "หนี้ครู" ครั้งนี้ จะมีครูได้รับประโยชน์มากถึง 460,000 คน
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้หารือและได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ในการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับครูที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลอีกจำนวน 25,000 ราย
สำหรับในกรณีที่ครูต้องการเงินกู้ ในส่วนก็จะมีคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครดิตบูโรในการเชื่อมต่อระบบข้อมูล เพื่อควบคุมยอดหนี้ทั้งหมดไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ (ครูจะสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน)
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติมแต่มีหนี้รวมมากกว่า 70% ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เพิ่ม
ทั้งนี้ กรณีที่ครูมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะมีสถานีแก้หนี้ 2 ระดับ เพื่อไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้
โดยในระดับแรก คือ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ของหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ./สอศ./กศน./สช.) ซึ่งมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธาน จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ และครู
หากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็จะเป็นระดับที่สองโดยการยกระดับการแก้ไขสู่สถานีแก้หนี้ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ซึ่งจะมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยหนี้ที่ไม่สามารถหาแนวทางในระดับเขตพื้นที่ได้
โดยต้องมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการในการแก้ไข ศาลยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุน โดยสามารถประสานศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล เพื่อหาแนวตกลงร่วมกัน
ทั้งนี้ แนวทางสนับสนุนการแก้ไข นอกจากหารือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว อาจสามารถทำได้ (ขึ้นอยู่กับปัญหาลูกหนี้ และสถานะทางการเงินที่มี) โดยสามารถให้ครูนำเงินอนาคตมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ได้ เช่น เงินบำเหน็จตกทอด เงินชพค.ซึ่งมีประมาณ 900,000 บาทต่อคน ใช้ปรับโครงสร้างหนี้
โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับธปท. นอกจากนี้ ยังมีเงินหุ้นสหกรณ์ จากเดิมหากขาดส่งเงินค่าหุ้นประจำเดือนมากกว่า 3 เดือน จะเสียสิทธิประโยชน์ ก็จะมีการแก้ไขโดยให้มีการหักเงินค่าหุ้นสหกรณ์เป็นลำดับต้น เพื่อให้สิทธิครูนำผลประโยชน์ที่ได้จากหุ้นสหกรณ์นำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้