ข้าวหลาม "วัดพระบรมธาตุนครชุม" ปีละครั้งใน "วันมาฆบูชา"
ในอดีตทุกบ้านจะเผาข้าวหลามในฤดูนี้ มาทำบุญถวายพระใน "วันมาฆบูชา" ทำให้ตามหมู่บ้านชุมชนจะเห็นควันลอยโขมง จากการเผาข้าวหลามเต็มไปหมด
วันที่ 16 ก.พ.65 ข้าวหลามที่ได้ชื่อว่า นักชิมรอคอย เพราะจะได้กินเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญเท่านั้น "วันมาฆบูชา" ปีนี้ ต้องยกให้กับข้าวหลาม ของ "วัดพระบรมธาตุนครชุม" จังหวัดกำแพงเพชร
เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.65) บริเวณวัดลานพระบรมธาตุนครชุม ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร มีชาวบ้านในเขต ต.นครชุม และชาวบ้านจาก อ.พรานกระต่ายมาช่วยกันเผาข้าวหลาม ใช้สำหรับการทำบุญเพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นงานประจำปีของวัดพระบรมธาตุนครชุม ที่จัดต่อเนื่องมาทุกปี
พระราชวชิรเมธี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุม เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผยว่า ในอดีตช่วงเวลานี้ ชาวไร่ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตกันหมดแล้ว ทั้งข้าว ถั่วและงา จึงว่างเว้นจากการทำงาน และนำผลผลิตที่ได้ มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาข้าวหลาม ซึ่งในอดีตทุกบ้านจะเผาข้าวหลามในฤดูนี้ มาทำบุญถวายพระในวันมาฆบูชา ทำให้ตามหมู่บ้านชุมชนจะเห็นควันลอยโขมง จากการเผาข้าวหลามเต็มไปหมด เพราะทุกบ้านจะเผาข้าวหลามในวันเดียวกัน
แต่ปัจจุบัน การเผาข้าวหลามแบบโบราณหายาก ดังนั้นทุกปีทางวัดจึงจัดเผาข้าวหลามขึ้นบริเวณลานวัด เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและได้มีส่วนร่วม สำหรับส่วนผสมของข้าวหลาม ประกอบด้วย ข้าวเหนียวเขี้ยวงูกว่า 1 ตัน น้ำตาลประมาณ 500 กิโลกรัม มะพร้าวประมาณ 7,000 ลูก ไม้ไผ่จากป่าประมาณ 800 ลำ และอื่นๆ ทั้งหมดมีผู้ใจบุญบริจาคให้ทั้งสิ้น ส่วนแรงงานเป็นชาวบ้าน มาช่วยแต่ละวัน ทุกแผนกต้องใช้คนประมาณ 80 คน
ข้าวหลามของวัดพระบรมธาตุนครชุม เน้นรสชาติมัน แต่หวานไม่มาก และมีรสเค็มเล็กน้อย หลังจากเผาแล้วจะจำหน่ายให้ประชาชนซื้อไปทำบุญถวายพระ หรือจะซื้อไปฝากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงก็ได้ เงินรายได้ทุกบาทจะเข้าวัด สมทบการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ
เมื่อวานนี้ ข้าวหลามยังไม่ทันสุก ก็มีชาวบ้านมารอซื้อกันแล้ว เนื่องจากความอร่อยของรสชาติข้าวหลามแบบท้องถิ่น แม้ช่วงเผาข้าวหลามจะมีฝนตกตลอดทั้งวัน มีอุปสรรคในเผาข้าวหลามกลางแจ้งบ้าง ลูกค้ามารอ แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ภาพ/ข่าว ศุทธิกาญจน์ ธนบวรเวศม์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.กำแพงเพชร