กองทัพบก ส่งอากาศยานไร้คนขับ UAV สนับสนุนภารกิจ "ดับไฟป่าภาคเหนือ"
กองทัพบกส่ง อากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes 450 เพื่อบินปฏิบัติภารกิจ ลาดตระเวนเฝ้าระวัง ปัญหาหมอกควัน และสนับสนุน "ดับไฟป่าภาคเหนือ" ช่วงฤดูร้อน พิสัยบินไกลถึง 250 กิโลเมตร และบินได้นานถึง 18 ชั่วโมง
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี รองผู้บัญชาการกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 พร้อมคณะตรวจเยี่ยม ทีม UAV / อากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการบินลาดตะเวนตรวจจุดความร้อน สนับสนุน "ดับไฟป่าภาคเหนือ" ในห้วงเวลาที่เกิดจุดความร้อน ในพื้นที่ภาคเหนือ ที่กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่
ภายหลังที่กองทัพบก ได้ให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ห้วงวันที่ 14 ก.พ. -15 มี.ค.2565 เพื่อเตรียมการติดตั้งระบบควบคุมภาคพื้นระหว่างทางขับและทางวิ่ง รวมถึงติดตั้ง arresting cable (อุปกรณ์ใช้ร่วมกับระบบขึ้น -ลงอัตโนมัติ) บริเวณขอบทางวิ่ง เมื่อได้รับอนุญาตจากท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่
โดยอากาศยานไร้คนขับ UAV รุ่น Hermes(เฮอร์เมส) 450 สามารถปฏิบัติการได้ทั้งกลางวันและกลางคืน มีเพดานบินสูงสุด 18,000 feet บินได้นาน 18 ชั่วโมง พิสัยปฏิบัติการ 250 กิโลเมตร น้ำหนักระบบ 345 กิโลกรัม สามารถวิ่งขึ้นด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุดได้ 490 กิโลกรัม
พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ มูลดี กล่าวว่า สำหรับอากาศยานไร้คนขับ UAV ทางกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพบก เพื่อปฏิบัติการ ISR (Intelligence Surveillance and Reconnaissance) โดยการใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง ใช้ระบบตรวจจับ หรือ Sensor จากอากาศยานไร้คนขับ และข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อการหาจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นแหล่งกำเนิดของไฟ
โดยทำการบูรณาการสัญญาณภาพจากระบบตรวจจับทุกส่วน รวบรวมส่งมายังส่วนบัญชาการและควบคุมในลักษณะ Near Real Time เพื่อให้ผู้บัญชาการสถานการณ์ และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทราบถึงพิกัดและเข้าควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ รวมทั้งจัดทำเป้าหมายที่ตรวจพบให้กับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า และศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อวางแผนจัดชุดดับไฟป่า ชุดลาดตระเวน เข้าไปยังพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้การดับไฟป่าแต่ละครั้งตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) สามารถตรวจจับจุดความร้อนที่เป็นลักษณะไฟที่มอด แต่ยังมีเชื้อไฟที่มีขนาดเล็กได้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการดับไฟป่าได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
พล.ต.ประสิษฐิพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (ดาวเทียมระบบ VIIRS) ห้วงวันที่ 16 ก.พ.2565 พบเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวน 194 จุด น้อยกว่าวันเดียวกันของปี 64 จำนวน 735 จุด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 – 16 ก.พ.2565 เกิดจุดความร้อนสะสม 12,067 จุด
เมื่อเทียบปี 2564 ( 20,937 ) ลดลง 8,870 จุด คิดเป็น 42.37 % เมื่อเทียบปี 2563 ( 47,213 ) ลดลง 35,146 จุด คิดเป็น 74.44 % ซึ่งจุดความร้อนวันนี้พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ,เชียงใหม่ น่าน และจังหวัดลำปาง โดยพบพื้นที่อนุรักษ์ 96 จุด พื้นที่ป่าสงวน 82 จุด เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเมื่อวาน พื้นที่เผาไหม้ลดลง ค่าฝุ่นละอองลดลง สภาพอากาศโดยรวมดีขึ้น
จากข้อมูลขั้นต้นพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 – 16 ก.พ.2565 พบว่าจังหวัดที่มีจุดความร้อนสะสมสูงกว่าปี 64 ในห้วงเวลาเดียวกัน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดเชียงราย , จังหวัดตาก , จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดน่าน และจังหวัดลำปาง