ข่าว

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF

17 ก.พ. 2565

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐมนตรีทั้งคณะ กรณีโรค ASF ยืนยันไม่เคยปกปิด ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำ ไทยป้องกันโรคนี้ได้ดีที่สุดในอาเซียน ส่วนราคาหมูแพงมาจากหลายปัจจัย

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะปัญหา โดยเป็นการอภิปรายคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ไม่ได้เจาะจงรัฐมนตรีคนใด

ทั้งนี้หัวข้อหนึ่งในการอภิปรายคือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร , นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย และ นายสัตวแพทย์ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นผู้อภิปราย

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจงช่วงหนึ่งว่า ตอนนี้ราคาหมูสูงขึ้นหรือไม่ ไม่แพงเพราะอะไร เพราะนายกฯ เข้าไปแก้ไข ช่วยทุกเรื่อง ทั้งเรื่องโรคระบาด ตนเองไม่ปกปิด แต่สิ่งที่ท่านปกปิด ทำไมถึงมีการกักเก็บเนื้อสุกรไว้ในห้องเย็นจำนวนมาก มีคดีอยู่ในศาล และยืนยันว่าต้องถูกลงโทษตามกฎหมายทุกประการ ย้ำว่าไม่ได้รังแกใคร และไม่ได้สนับสนุนลูกค้ารายใหญ่ แต่ต้องการให้ประชาชนคนไทยระดับล่างเข้มแข็งให้มากที่สุด

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงผลการตรวจสอบห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์ ว่าวันนี้ดำเนินการไปแล้ว 6,536 เป้าหมาย จากการทำงานร่วมกันทุกกระทรวง พบการกระทำความผิดเรื่องการกักตุน 15 แห่ง อายัดเนื้อหมูจำนวน 2,036,497.54 กิโลกรัม และถอนอายัดไปแล้ว 1,006,143 กิโลกรัม ทั้งยังตรวจสอบห้องเย็นที่รับฝากซากสุกรทั่วประเทศ 421 เป้าหมาย พบการกระทำความผิด 9 แห่ง เป็นการเก็บกักไม่ทราบที่มา ไม่มีใบอนุญาตขนย้าย ก็อย่างที่ทราบแล้วว่ารอบบ้านเราในภูมิภาคเกิดโรคนี้ขึ้นมา ตนเองคิดว่าเราหลอกเขาไม่ได้หรอก ส่วนตัวก็หลอกตัวเองไม่ได้เหมือนกัน

หลังมีการอภิปรายประเด็นดังกล่าวในสภาฯ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่า ระบบการป้องกันและเฝ้าระวังโรค ASF ของประเทศไทย ดีที่สุดในอาเซียน สามารถป้องกันโรคได้นาน นับตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งพบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกที่ประเทศจีน มีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline) ทั้งยังได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF

นอกจากนี้ยังบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยว เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจาการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา  เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค 
 

ส่วนประเด็นราคาสุกรที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อเทียบราคากับประเทศจีนตอนที่มีการระบาดของโรค ASF พบว่าประเทศไทยยังมีราคาถูกกว่ามาก  โดยปี 2563 จีนมีราคาสุกรหน้าฟาร์ม ประมาณ 36 หยวน หรือ 180 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเนื้อแดงประมาณ 360 บาท ทั้งนี้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงนั้นมาจากหลายปัจจัย จากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง  ประกอบกับต้นทุนการผลิตสุกรขุนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์  เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ โดยจะกลับมาเลี้ยงใหม่เมื่อปรับและเตรียมความพร้อมเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการกักตุนเนื้อสุกรในห้องเย็น ซึ่งจากการตรวจสอบห้องเย็น ทำให้ห้องเย็นเข้มงวดในการรับฝากสินค้ามากขึ้น มีการนำเนื้อสุกรมาจำหน่าย ทำให้ราคาเป็นตามกลไกตลาด ส่งผลให้ปัจจุบันราคาเนื้อสุกรปรับลดลง ทั้งขายส่งห้างปลีกและราคาขายปลีก นอกจากนี้จากการดำเนินงานอย่างเข้มงวดในการควบคุมป้องกันโรค และควบคุมการเคลื่อนย้ายอย่างเข้มงวด ทำให้สามารถควบคุมโรคได้วงจำกัดไม่แพร่กระจายแล้ว 

นายกฯ แจงญัตติอภิปรายทั่วไป ยืนยันไม่เคยปกปิดโรค ASF
     
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อสุกรที่ส่งออกไปยังประเทศกัมพูชา ในปี 2564 โดยสถาบันวิจัยด้านสุขภาพสัตว์และปศุสัตว์กัมพูชา ยืนยันตรวจพบเชื้อ ASF จากการตรวจ 2 รอบ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 และวันที่ 8 ตุลาคม 2564 นั้น ตามประกาศของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กรมสุขภาพสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แจ้งว่ามีการจับกุมการกระทำความผิด 2 กรณี เป็นการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ไม่มีเอกสารใด ๆ

ซึ่งกองเฉพาะกิจ กรมปศุสัตว์ ได้ประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเข้มงวดมาตลอด และให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดในการปฏิบัติงาน บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด สกัดการลักลอบ 24 ชั่วโมง จากข่าวที่ปรากฏจะต้องมียานพาหนะเป็นองค์ประกอบในการเคลื่อนย้ายสัตว์ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะลักลอบกระทำความผิดดังกล่าว และพื้นที่ที่ปรากฏเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก ห้ามบุคคลรวมถึงยานพาหนะทุกชนิดเข้าออกตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 6.00 น. หากฝ่าฝืนจะมีโทษสถานหนัก