เป็นเรื่อง ผู้ป่วย "HI" โวย สปสช.ทำได้ด้วยหรอ? ส่งอาหารบูดเน่า กินไม่ได้ ซ้ำๆ
ผู้ป่วย "Home Isolation" โวย เจออาหารบูด 4 วันซ้อน ถามกลับอยากให้อยู่บ้านแล้วทำแบบนี้หรอ? ถ้าป่วยหนักไม่ได้กลิ่นทานเข้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร ด้านรองเลขา สปสช.ขอตรวจสอบอาจเกิดผิดพลาดเพราะหลายแห่งทำเองกับจ้างร้านค้า
จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่รายวันยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2565) อยู่ที่ 24,932 ราย (ยังไม่นับรวม ATK) และยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จำนวน 595,847 ราย
ซึ่งจากการแพร่ระบาดระลอกนี้ที่ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน เริ่มเกิดปัญหาเตียงในสถานพยาบาลไม่เพียงพอ การเข้าระบบรักษาจึงพยายามมุ่งไปที่ "การกักตัวที่บ้าน" หรือ Home Isolation (HI) แต่ทั้งนี้กลับพบว่าขณะนี้เริ่มมีปัญหาการดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งการได้รับยาและอาหารที่ส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้านล่าช้าเสียหาย
โดยผู้ป่วยรายหนึ่งได้ร้องเรียนมายัง "คมชัดลึกออนไลน์" ว่า ตนเองตรวจเชื้อโควิด-19 ได้ผลเป็นบวก เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้ประสานไปยังหมายเลข 1330 สปสช. เพื่อตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจเข้าระบบ "การกักตัวที่บ้าน" หรือ HI จากนั้นบ่ายวันเดียวกันเริ่มได้รับยา ขณะที่อาหารถูกส่งมาในวันรุ่งขึ้น (22) ซึ่งดูสภาพภายนอกเรียบร้อยดี มีทั้งน้ำดื่ม นม อาหารปรุงสำเร็จ และผลไม้ ครบทั้ง 3 มื้อ แต่ปรากฎว่าไม่สามารถรับประทนได้ เพราะ....
เมื่อเปิดอาหารออกเพื่อรับประทาน พบว่า ภายในส่งกลิ่นเหม็นออกมาอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเมนู น้ำพริก ปลาทู ผักต้ม ไก่ผัดพริกขิง เกาเหลา ทอดมัน
ซึ่งในตอนแรกไม่ได้คิดอะไรมากพอจะให้โอกาสกับทาง สปสช.ได้แก้ตัวในความผิดพลาด แต่กลับเป็นว่าในวันต่อมา อาหารที่ได้รับก็ยังคงเหม็นบูด รับประทานไม่ได้เช่นเดิม ทำให้ต้องเสียความรู้สึกในเรื่องอาหารที่ส่งมาให้เป็นวันที่ 2 ยิ่งไปกว่านั้น ผลไม้อย่างแอปเปิ้ลก็มีรอยจุดคล้ายจะเน่าไม่สามารถรับประทานได้ และเป็นแบบนี้ติดต่อกันถึง 4 วัน จึงได้ร้องเรียนไปยัง สปสช.ด้วยการส่งข้อความทางไลน์ แต่กลับเป็นว่าไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ แม้ว่าข้อความที่ถูกส่งไปจะโชว์ว่ามีการอ่านข้อความไปแล้วก็ตาม โดยไม่มีข้อความใดๆตอบกลับเพื่อชี้แจง
จึงอยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สปสช.เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพราะการเข้าระบบการกักตัวที่บ้านหรือ HI คือมาตรการที่ต้องการให้ผู้ป่วยพักตัวที่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อ และการที่ทาง สปสช.นำยาและอาการมาให้บริการกับผู้ติดเชื้อ ถือว่าเป็นมามาตรการที่ดี แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อไม่สามารถรับรู้รสชาติและกลิ่น แต่ต้องมารับประทานอาหารที่บูดเน่าเข้าไป ก็ยิงเป็นทำร้ายและซ้ำเติมให้แก่ผู้ป่วยติดเชื้อมากยิ่งขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้สัมภาษณ์กับทางเนชั่นทีวี ถึงกรณีนี้ว่า ขอขอบคุณข้อมูลที่แจ้งเข้ามา แต่โดยหลักการแล้ว สปสช.จะจับคู่กับผู้ให้บริการ เช่น คลินิก โรงพยาบาล กับผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) ซึ่งแต่ละแห่งอาจจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง
แต่อย่างไรก็ตาม ทาง สปสช. ได้แยกค่าบริการอาหารออกมา จากการรักษาอยู่ที่วันละ 400 บาทต่อคน โดยจะมีทางหน่วยบริการทำเอง หรือจ้างต่อ แล้วแต่กรณีไป ทั้งนี้ก็จะเข้าไปตรวจสอบในรายละเอียด และพร้อมจะปรับการให้บริการทางไลน์ @nhso ให้ทันต่อสถานการณ์มากยิ่งขึ้น