เดียร์ รับเรื่องกลุ่มฟรีแลนซ์ได้รับผลกระทบ "PayPal" ห้ามโอนเงินข้าม ปท.
โฆษกกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนฯ เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี รับเรื่องร้องเรียนจากตัวแทนของกลุ่มฟรีแลนซ์ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มการโอนเงินระหว่างประเทศหรือ" PayPal "หลังจากได้รับความเดือดร้อนที่ PayPal เปลี่ยนนโยบายในการโอนเงินของกลุ่มบุคคลให้เป็นนิติบุคคล
กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ นำโดย น.ส.อรุณี นุ่มเกตุ อายุ 37 ปี อาชีพขายเสื้อผ้าเด็กบนเว็บไซด์และนายธีรภัทร เจริญสุข นักแปล เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนฯ ให้หาแนวทางช่วยเหลือ หลังได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการโอนเงินข้ามประเทศให้กับผู้ใช้งานทั่วไปผ่านระบบ "Paypal" ของบริษัทเพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 มี.ค.นี้ โดยกำหนดให้บุคคลทั่วไปต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงจะสามารถดำเนินการรับโอนเงินได้
นายธีรภัทร ระบุว่า ทาง "Paypal" ไม่ควรกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่แรกเพราะไม่ชี้แจงความชัดเจนในข้อกฎหมายหรือหน่วยงานที่บังคับใช้ให้ทราบเมื่อทางเราสอบถามไป ได้รับการชี้แจงตอนแรกว่า ไม่ได้มีการบังคับให้ต้องเป็นนิติบุคคลสามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาได้ ทำให้ผู้ใช้งานไปดำเนินการ จดทะเบียนดังกล่าวกัน แต่เมื่อ 5 ก.พ 65 ที่ผ่านมา กลับมีข้อกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงเกิดความเสียหายขึ้นเพราะความไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงขอความชัดเจนว่า
1."PayPal" พูดคุยกับหน่วยงานใดและใช้กฎหมายข้อไหนที่ออกประกาศนี้ 2.เรียกร้องให้การใช้งานไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะสร้างภาระในทางกฎหมายและค่าใช้จ่าย 3.รับผิดชอบในการออกประกาศที่ไม่ชัดเจนและเกิดความเสียหายแล้ว 4.ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้จนกว่า"PayPal" จะปรับปรุงระบบภายในจนรองรับการใช้งานบุคคลธรรมดาได้
เช่นเดียวกันกับนางสาวอรุณี ที่ระบุว่า เธอขายเสื้อผ้าเด็กผ่านเว็บไซด์อีสซี่ให้กับชาวต่างชาติมา 7-8 ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวอเมริกา จึงจำเป็นต้องใช้ "PayPal" ในการชำระสินค้า
แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 "PayPal"ให้ผู้ใช้บริการยื่นทะเบียนพาณิชย์ โดยไม่ได้ระบุรูปแบบว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่ เธอก็ยื่นเอกสารไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้ว PayPal ก็ออกนโยบายใหม่เพิ่มผ่านทางอีเมลอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 65 ใจความสำคัญของข้อความระบุว่า "บัญชี PayPal จะถูกจำกัดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 65 เป็นต้นไป โดยจะไม่สามารถโอนหรือรับเงินผ่านบัญชี PayPal ได้
อรุณี จึงมองว่าการลงทะเบียนธุรกิจ (นิติบุคคล) กับทางกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยจะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงอาจไม่ทันในวันที่ 7 มี.ค. ที่จะถึงนี้ เธอจึงอยากร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนนโยบายนี้ เพราะไม่เพียงอรุณีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังมีกลุ่มผู้ใช้ที่มีอาชีพฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ทั่วประเทศหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน
ด้าน น.ส.วทันยา กล่าวว่า ในส่วนของ กมธ.การเงิน การคลัง ฯ มีอำนาจในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากรับเรื่องอาจจะเชิญ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมหารือ แต่ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้
อีกทั้ง " PayPal" เป็นองค์กรเอกชน อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.แต่จากที่ได้ทำงานร่วมกับ ธปท.มา ก็เชื่อว่า จะช่วยหาทางแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เบื้องต้นจะพยายามหาทางให้ Paypal ชะลอการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวที่จะเริ่มในวันที่ 7 มี.ค.นี้ ออกไปก่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานมีเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยน แม้จะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงก็ตาม
ที่สำคัญคือการดำเนินการเชิญผู้ให้บริการ "PayPal" ในประเทศไทยมาให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของการออกกฎนี้ เนื่องจากกฎหมายของการธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อป้องกันการฟอกเงิน จึงทำให้ระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการต้องทำระบบ KYC หรือ Know Your Customer คือ กระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง แต่ PayPal ออกกฎว่าต้องทำระบบ KYB หรือ Know Your Business คือการระบุตัวตนทางธุรกิจ จึงสร้างภาระให้กับประชาชน โดยไม่จำเป็น
โฆษกกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎรยังทิ้งท้ายด้วยว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 2 มีนาคมนี้ โดยจะเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบมาหาทางออกร่วมกันต่อไป