เช็คเงื่อนไข "บริจาคร่างกาย" ร่างแบบไหนนำไปใช้ได้ แบบไหนไม่เข้าเกณฑ์
เช็คเงื่อนไขการ "บริจาคร่างกาย" ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และหลังเสียชีวิตสภาพศพต้องห้ามมีลักษณะแบบไหนจึงจะสามารถส่งต่อศพให้นักศึกษาแพทย์ได้
จากกรณีเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ "อิแทวอน" เกาหลีใต้ในคืนฮาโลวีนซึ่งมีผู้คนจำนวนมากเบียด เสียด จนล้มเป็นโดมิโน่ ส่งผลให้ผู้คนที่อยู่ในตรอกเล็ก ๆ เกิด ภาวะขาดอากาศหายใจ จนเสียชีวิต โดยล่าสุด แม่ของเหยื่อ อิแทวอน ได้เปิดเผยว่าลูกสาวทำเรื่องบริจาคร่างกายไว้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากอวัยวะลูกสาวของเธอ เกิดความเสียหายร้ายแรง โดยวันนี้ "คมชัดลึกออนไลน์" ได้รวบรวมเงื่อนไข และขั้นตอนการบริจาคร่างกาย โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
การบริจาคอวัยวะ หรือ "บริจาคร่างกาย" ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาจได้จากอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธาซึ่งได้แสดงเจตนารมณ์ในการบริจาคอวัยวะเอาไว้ หรือได้จากญาติที่มีความประสงค์จะบริจาค
ซึ่งการบริจาคอวัยวะถือ หรือ "บริจาคร่างกาย" เป็นการสร้างประโยชน์และความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เรียกได้ว่าเป็นการให้ชีวิตใหม่ ให้ผู้ป่วยได้กลับคืนสู่สังคมด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งยังสามารถนำร่างไปให้นักษาแพทย์ทำการศึกษาต่อไป
โรงพยาบาลแต่ละแห่ง จะมีรายละเอียดการบริจาคร่างกายแตกต่างกันไป โดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ระบุ รายละะเอียด เงื่อนไข "บริจาคร่างกาย" ดังนี้
คุณสมบัติผู้บริจาคอวัยวะ หรือ "บริจาคร่างกาย" โดยทั่วไปมีรายละเอียด ดังนี้
- อายุไม่เกิน 65 ปี
- เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
- ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
- ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
- อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
- ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
- ควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย
ด้านภาควิชากายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศิริราช ระบุข้อมูลเพิ่มเติม
วัตถุประสงค์ของการบริจาคร่างกาย
- เพื่อให้นักศึกษาแพทย์นำไปศึกษา หรือที่เรียกว่าเป็น "อาจารย์ใหญ่"
- เพื่อให้แพทย์เฉพาะทางได้ฝึกผ่าตัด
- เพื่อทำการวิจัยทางภายวิภาคศาสตร์
การ "บริจาคร่างกาย" แยกออกเป็น 3 แบบ
แบบที่ 1 บริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษา
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 80 ปี น้ำหนักโดยประมาณไม่ต่ำกว่า 40 กิโลกรัม
- ไม่เป็นศพเกี่ยวกับคดี
- ไม่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง, โรคไต, โรคเบาหวาน และอุบัติเหตุ
- ไม่เป็นศพที่มีสภาพไม่เหมาะสม เช่น ศพเน่าเปื่อย อวัยวะขาดหายไปไม่ครบสมบูรณ์ ยกเว้นกรณีบริจาคดวงตา
แบบที่ 2 บริจาคเพื่อให้แพทย์เฉพาะทางฝึกผ่าตัด
- ไม่เคยผ่าตัดบริเวณข้อต่อต่างๆ
- เมื่อเสียชีวิต ญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ ให้มารับศพทันที
- ให้ญาติตัดผม และเล็บของศพใส่โลงเพื่อสวดทำบุญ
- ไม่ฉีดยารักษาศพ
แบบที่ 3 บริจาคเพื่อเก็บโครงกระดูกใช้ในการศึกษา
- ขณะเสียชีวิตอายุต้องไม่เกิน 55 ปี
- ญาติสามารถนำอวัยวะบางส่วนของศพดอง ไปทำพิธีทางศาสนาได้
- ไม่ฉีดยารักษาศพ เพราะจะทำให้ไม่สามารถเก็บเป็นโครงกระดูกได้
เอกสารที่ใช้
- รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ เขียนชื่อ-นามสกุลที่ด้านหลังรูปให้ชัดเจน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
ขั้นตอนการ "บริจาคร่างกาย"
1. กรอกแบบฟอร์ม ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านด้วยตัวบรรจง
2. ระบุ ชื่อ-นามสกุล ผู้แจ้งการถึงแก่กรรม (ผู้แจ้งการถึงแก่กรรมหมายความถึง ผู้ที่เต็มใจจะรับเป็นธุระในการแจ้งให้ภาควิชาฯ ไปรับศพของผู้บริจาคร่างกายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับมรดกอื่นใดของผู้บริจาคร่างกาย)
3. ส่งแบบฟอร์มที่กรอกแล้วพร้อมรูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ ไปยังโรงพยาบาลต้นทางที่ผู้บริจาคต้องการจะบริจาคให้
4. รับบัตรประจำตัวผู้บริจาคได้ภายใน 1 เดือน โดยให้ระบุว่าต้องการรับด้วยวิธีใด
-รับทางไปรษณีย์เป็นจดหมายลงทะเบียน (ต้องมีคนอยู่บ้านเพื่อลงชื่อรับ)
-มารับบัตรด้วยตัวเอง
5.หากการยกเลิกพินัยกรรมฉบับนี้ ไม่ต้องแจ้งให้ทราบ จะไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายแต่ประการใด
ที่มา : ภาควิชากายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศิริราช , โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย