ตามไปดู "วก.ปากท่อ" ทำอย่างไร ใน 2 ปีเด็กพุ่งเกิน100%
"ครูเหน่ง ตรีนุช" ตามไปดู "วก.ปากท่อ" ทำอย่างไรถึงสามารถ ดึงเด็กกลับมาเรียน เพียง 2 ปี เด็กพุ่งเกิน 100% เช็ครายละเอียดที่นี่
เด็กหลุดจากระบบ หรือเด็กออกจากระบบการศึกษาทั้งที่ยังเรียนไม่จบแต่ะละช่วงชั้น ปัญหาหนักในระบบการศึกษาไทย ยิ่งเกิดวิกฤติโควิด19 จำนวนเด็กเพิ่มเป็นเท่าตัว ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการพบ “วก.ปากท่อ” สร้างปรากฏการณ์ ทำอย่างไรถึงสามารถดึงเด็กกลับคืนสู่ห้องเรียนได้ มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้
วันที่ 28 ก.พ. 2565 ที่ จังหวัดราชบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน โครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ที่วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ปากท่อ และ เปิดงาน Kick-off สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน
โดยนางสาวตรีนุช ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า โครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญตามนโยบายเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
“ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาเด็กตกหล่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียน-การเดินทาง ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามาเรียนฟรี 3 ปี และมีที่พักอาศัยให้” รมว.ศึกษาธิการกล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า จากการตรวจเยี่ยมพบว่า วิทยาลัยการอาชีพปากท่อ สามารถนำเพิ่มจำนวนเด็กจาก ปีการศึกษา 2562 ที่มีประมาณ 60 คน เป็น 631 คน ในปีการศึกษา 2564 ซึ่งปริมาณผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากการแนะแนวตามโรงเรียนชายขอบ ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง อ.บ้านคา อ.โป่งกระทิง และ อ.เบิกไพร เป็นอำเภอที่มีระยะทางห่างจากวิทยาลัยประมาณ 50-60 กิโลเมตร
โดยวิทยาลัยมีสวัสดิการให้แก่นักเรียน อาทิ บริการรถรับ-ส่งฟรี มีบริการหอพัก ที่เป็นตึกละ 4 ชั้น แยกเป็นชาย -หญิง ที่เป็นมาตรฐานของ สอศ. ฟรีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอม
นอกจากนี้ยังมีงบฯเรียนฟรี 15 ปี นำมาจัดสรรเป็นชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ฟรี และมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงประสานงานเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ในการส่งต่อเด็กด้วย
“ ต้องขอชื่นชมผู้บริหารที่สามารถคิดนอกกรอบและปรับเม็ดเงินที่มีอยู่มาดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดี อย่างไรก็ตาม ดิฉันจะนำข้อดี รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบมาปรับปรุงในแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการของโครงการแล้ว และ สอศ.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการต่อไป ” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ทั้งนี้การดำเนินโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ซึ่ง สอศ.ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 87 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถรับปริมาณนักเรียนเข้าร่วมโครงการได้ 5,200 คน ซึ่งการมาดูความพร้อมของ ส่วน
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 เพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการให้ได้ 169 แห่งทั่วประเทศ สามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน ทั้งสิ้น 116,000 คน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวแจกแจงว่า สำหรับการเดินสายโรดโชว์สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ 4 ที่ ศธ.มาการสร้างการรับรู้ ซึ่งพบว่าสถานศึกษามีความตื่นตัวดี
"และจากการเปิดศูนย์ MOE SAFETY CENTER ได้รับเรื่องร้องเรียนมาประมาณ 100 กว่าเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องบูลลี่กัน และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว เหลือประมาณ 20 เรื่องซึ่งได้เร่งประสานให้แก้ไขปัญหาโดยเร็วแล้ว"รมว.ศึกษาธิการ ระบุ