ยังไม่ควรประกาศให้ "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น"
เพื่อไทย แนะรัฐทบทวน ประกาศให้ "โควิด" เป็น "โรคประจำถิ่น" อ้างรัฐบริหารจัดการล้มเหลว ผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลที่ดี
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.โฆษกพรรคเพื่อไทย ค้านรัฐบาลที่เตรียมประกาศให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น โดยระบุว่า จากการลงพื้นที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนฝากคำถามมาถึงรัฐบาลว่า รัฐบาลกำลังทำให้โรคโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นก่อนเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ รัฐบาลกำลังใช้วิธีการสร้างความเชื่อให้ประชาชนเข้าใจไปว่า ทุกคนต้องติดเชื้อโควิด และในที่สุดโควิดจะกลายเป็นโรคทั่วไปที่สามารถรักษาให้หายได้และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ใช่หรือไม่ ซึ่งในทางการแพทย์กำลังเป็นที่ถกเถียงกันว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงและกระทบกับสุขภาพของประชาชนในระยะยาว หรือ Long Covid ซึ่งเป็นอันตรายแก่ชีวิตของประชาชน ประกอบกับระบบการบริหารจัดการของรัฐบาลยังล้มเหลว ดังนั้นจึงยังไม่ถึงเวลาที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นในตอนนี้
ในบริบทของประเทศไทย ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ จึงยังไม่ใช่เวลาที่โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น แม้บางประเทศจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่อยู่ภายใต้บริบทที่ว่า ประชาชนของเขาสามารถเข้าถึงการบริการพื้นฐานของภาครัฐได้ หยุดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลต้องปรับระบบการบริหารจัดการการรักษาให้ทันท่วงทีกับสถานการณ์
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศยังน่าเป็นห่วง โดยจากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกระดับสี ยังประสบปัญหาในการเข้าสู่ระบบการรักษาจำนวนมาก ทั้งการติดต่อหมายเลข 1330 ที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการติดต่อกลับอย่างทันท่วงที ประชาชนไม่รับทราบถึงวิธีการดูแลตัวเองในเบื้องต้นและไม่ได้รับยาสามัญ ทำให้อาการติดเชื้อจากเบากลายเป็นหนัก ส่งผลต่อจำนวนเตียงในระบบโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ที่ต้องกลับเข้าสู่สภาพที่เรียกว่า ‘คัดเคส’ ผู้ที่สามารถเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้จะต้องมีประกันชีวิตที่ทำไว้กับบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่หากจะต้องกักตัวใน Hospitel จะต้องจ่ายมัดจำก่อนเข้าพักถึง 80,000 หมื่นบาท เพื่อกันไว้สำหรับการใช้บริการ เพราะภาคเอกชนไม่วางใจรัฐบาลโดย สปสช.อาจจะไม่มีเงินจ่ายให้กับเอกชนแล้ว
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เป็นเรื่องทางวิชาการ การแพทย์ และวิทยาศาสตร์ ส่วนฝ่ายนโยบาย คือรัฐบาล รัฐมนตรี และทางกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนข้อเสนอที่บุคลากรการแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข เราให้การสนับสนุนทุกรูปแบบอยู่แล้ว ซึ่งปฏิบัติเช่นนี้มาตลอด เพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงยาและวัคซีน รวมทั้งการบริหารจัดการสถานพยาบาล สามารถรองรับกับสถานการณ์ติดเชื้อปัจจุบันได้