ข่าว

"วัคซีนโควิด"เจอแพ้แล้ว 12,408 ราย สปสช.ควักเงินเยียวยา 1,461 ล้านบาทแล้ว

"วัคซีนโควิด"เจอแพ้แล้ว 12,408 ราย สปสช.ควักเงินเยียวยา 1,461 ล้านบาทแล้ว

28 ก.พ. 2565

"วัคซีนโควิด" สปสช.ดูแลผู้เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด12,408 ราย ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จ่ายไปแล้ว 1,461 ล้านบาท


   นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งฉีด  "วัคซีนโควิด" ห้กับประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยรุนแรงภายหลังติดเชื้อ โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมพันธ์ 2565 มีประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 รวมเข็มที่ 1, 2, 3 และ 4 สะสมแล้ว จำนวน 123,462,330 โดส กระจายทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ในจำนวนนี้มีผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์และผลกระทบภายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้มอบให้ สปสช. ทำหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีประชาชนที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีด "วัคซีนโควิด"  ป้องกันโรค โควิด-19 ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือเบื้องต้นทั้งสิ้นจำนวน 15,552 ราย ในจำนวนนี้เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือจำนวน 12,408 ราย (79.78%) ไม่เข้าหลักเกณฑ์ฯ จำนวน 2,280 ราย (14.66%) และอยู่ระหว่างการรอพิจารณาจำนวน 864 ราย (5.56%) ซึ่งในจำนวนนี้มีการมียื่นอุทธรณ์คำร้อง 831 ราย โดย สปสช.ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ แล้วทั้งสิ้น 1,461.19 ล้านบาท

 

 

 

จากพื้นที่ยื่นคำร้อง 5 อันดับแรก ได้แก่ เขต 13 กทม. มีผู้ยื่นคำร้องมากที่สุด จำนวน 2,624 ราย รองลงมาเขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 1,813 ราย เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 1,630 ราย เขต 8 อุดรธานี จำนวน 1,461 ราย และเขต 6 ระยอง จำนวน 1,041 ราย เมื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ผู้ที่ยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง จำนวน 8,412 ราย (54.09%) ผู้มีสิทธิประกันสังคม จำนวน 3,760 ราย (25.44%) ผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 3,008 ราย (19.34%) นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่นๆ  

 

 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีด  "วัคซีนโควิด" ที่มีการยื่นคำร้องฯ อาทิ มีไข้, ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน, มีผื่น คัน บวม, ปวดเวียนศีรษะ หน้ามืด, แน่นหน้าอก หายใจลำบาก, อาการชา, แขนขาอ่อนแรง, ภาวะแพ้รุนแรง (Phylaxis Shock) และเสียชีวิต อย่างไรก็ตามภาพรวมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการไม่รุนแรง ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ ระดับ 1 อาการเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท จำนวน 8,919 ราย ขณะที่ใน ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท มี จำนวน 351ราย และ ระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท จำนวน 3,138 ราย
 

ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีด "วัคซีนโควิด"  สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ

1.ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด

2.ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

3.ที่ สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 สาขาเขต มีระยะเวลายื่นคำร้องภายใน 2 ปี นับ

จากวันที่เกิดความเสียหายหลังฉีด "วัคซีนโควิด" หลังจากได้รับคำร้องแล้ว จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนภาคประชาชนเป็นผู้พิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องแล้ว คณะอนุกรรมการฯ ระดับเขตพื้นที่จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลการวินิจฉัย

 

 

"สปสช.ยังคงให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบภายหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล ขอให้ประชาชนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามหลักเกณฑ์การให้บริการ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 และลดความสูญเสียจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19"  เลขาธิการ สปสช. กล่าว  

 

ดาวน์โหลดแแบบคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโควิด คลิกที่นี่