ธปท.- กมธ. การเงินการคลังฯ หารือให้ขยายการทำธุรกรรมบัญชี "เพย์พาล" ออกไป
ผู้ค้าออนไลน์รายย่อยเตรียมเฮ หลัง ธปท.- กมธ. การเงินการคลังฯ หารือให้ขยายการทำธุรกรรมบัญชีเพย์พาล ออกไปจนกว่า "เพย์พาล" จะจัดทำระบบ KYC แล้วเสร็จ
การประชุมของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้เป็นการนำเรื่องกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของ "บริษัทเพย์พาล ประเทศไทย จำกัด" ปรับเปลี่ยนนโยบายการโอนเงินข้ามประเทศให้กับผู้ใช้งานทั่วไปผ่านระบบ "เพย์พาล" ซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 มี.ค.นี้ โดยกำหนดให้บุคคลทั่วไปต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจึงจะสามารถดำเนินการรับโอนเงินได้นี้เข้าสู่ที่ประชุม
ซึ่งการประชุมวันนี้เพื่อหาทางออกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการฯ โดยมีตัวแทนจากการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ตัวแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ป.ป.ง. และตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ เข้าร่วมประชุม
จุดเริ่มต้นของวาระการประชุมในวันนี้ เกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้บริการ "เพย์พาล" เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้ช่วยหาแนวทางช่วยเหลือ หลังได้รับผลกระทบ
นายธีรภัทร เจริญสุข ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการฯ ชี้แจงกับที่ประชุมว่า เขาได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโนบายของ "เพย์พาล" หลังจาก "เพย์พาล" จะระงับการใช้งานบัญชีบุคคลธรรมดา ในวันที่ 7 มี.ค. นี้ ซึ่งหลังจากติดต่อ call center เพื่อจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะการจดทะเบียนเยาวชนซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ การบังคับทำป้ายหรือเวปไซต์ของตัวเอง จึงทำให้สูญเสียโอกาสทำมาหากิน
ตัวแทนการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อน ผลกระทบต่อการค้าขายของกลุ่มฟรีแลนซ์แล้ว แต่เนื่องจาก "PayPal" ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบของประเทศสิงคโปร์ เมื่อให้บริการคนไทย ก็ต้องมาอยู่ภายใต้การดูแลของ ธปท. เพื่อคุ้มครองและดูแลผู้ใช้งานคนไทย ซึ่งการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการ "PayPal" หรือที่เรียกว่า KYC นั้นเป็นขั้นตอนการดำเนินการเพียงส่วนหนึ่งในการป้องกันการฟอกเงินตามกฎหมายของ ป.ป.ง.
ทั้งนี้ ธปท. และ ป.ป.ง. ขอเพียงแค่ผู้ใช้งานสามารถยืนยันพิสูจน์ตัวตนได้ ไม่ว่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวตนแบบส่วนบุคคลหรือในนามนิติบุคคลก็สามารถกระทำได้เหมือนกัน
ดังนั้นในประกาศของ "PayPal" (ประเทศไทย) ที่มีการยืนยันให้ผู้ใช้งานบัญชี "PayPal" เพื่อทำธุรกรรมรับโอนเงินจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบัญชีไปเป็นระบบนิติบุคคลเพื่อทำระบบยืนยันตัวตนแบบ KYB นั้นจึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ทั้งนี้ ธปท.ได้ร่วมหารือกับผู้แทน "PayPal" (ประเทศไทย) เพื่อเร่งหาข้อยุติถึงผลกระทบที่เกิดกับประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Paypal โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอทางออกให้ผู้บริหาร ธปท. ลงนามเพื่อสามารถดำเนินการแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนต่อไปก่อนที่ระบบบัญชี Paypal จะระงับการให้บริการในวันที่ 7 มีนาคมนี้
ด้าน น.ส.วทันยา เปิดเผยว่า วันนี้ได้เชิญตัวแทน ธปท. สมาคมผู้ประกอบการออนไลน์รายย่อย ป.ป.ง. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มาร่วมหารือถึงทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนแบบ KYB ของ "PayPal" ซึ่งวันนี้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้วว่า มาตรฐานการยืนยันตัวตนตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของ ป.ป.ง. นั้น สามารถใช้การยืนยันแบบบุคคลธรรมดา โดยขอมีเพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนหรือหน้าพาสปอร์ตก็สามารถยืนยันตัวตนตามที่กฎหมายต้องการได้แล้ว หรือหากกรณีต้องการยืนยันในรูปแบบการดำเนินการธุรกิจ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ให้คำแนะนำว่า การจดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์ก็เพียงพอแล้วสำหรับการยืนยันตัวตนแบบ KYB ตามเงื่อนไขของ ป.ป.ง. ดังนั้นประชาชนไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแบบนิติบุคคลซึ่งจะมีต้นทุนในการทำธุรกรรมและดำเนินงานที่สูงกว่ามาก ทั้งนี้ ธปท. ได้มีแนวทางให้ Paypal ประเทศไทยขยายระยะเวลาการใช้งานบัญชีแบบที่สามารถรับโอนเงินได้ออกไปจนกว่าทาง Paypal จะดำเนินการจัดทำระบบยืนยันตัวตนแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และ Paypal จะต้องดำเนินการยืนยันตัวตนลูกค้าในระบบของ Paypalให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนหลังที่จัดทำระบบเสร็จ ในส่วนของความเสียหายของประชาชนที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดพลาดของ Paypal ทาง ธปท. ก็ได้หารือกับ Paypalให้หาวิธีการเยียวยาประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น”