ข่าว

"ครู" รู้ยัง "ปิดเทอม" ภาคเรียนที่ 2/2564 ให้นักเรียนพักแต่ครูมีงานหนักรอ

"ครู" รู้ยัง "ปิดเทอม" ภาคเรียนที่ 2/2564 ให้นักเรียนพักแต่ครูมีงานหนักรอ

24 มี.ค. 2565

"ครู" รู้ยัง "ปิดเทอม" ภาคเรียนที่ 2/2564 ให้นักเรียนพัก แต่ครูมีงานหนักรออยู่ เมื่อ "ครูเหน่ง ตรีนุช" มีนโยบายไม่บังคับเน้นสมัครใจแบบนี้... บทวิเคราะห์ โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล

ใกล้ “ปิดเทอม” ภาคเรียนที่2/2564 หลังนักเรียนสอบปลายภาคเสร็จเรียบร้อย ได้เวลาพักของเด็กนักเรียน แต่สำหรับ “ครู” รู้กันหรือยังว่า “ครูเหน่ง” ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ฝากกการบ้านเอาไว้ให้ “ข้าราชการครู” ไปเมื่อวันก่อน ไม่บังคับแล้วแต่สมัครใจ

 

"ดิฉันต้องการมาสร้างความเข้าใจและการรับรู้ให้แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติในพื้นที่ในนโยบายต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงการพาน้องกลับมาเรียน ความปลอดภัยในสถานศึกษา โรงเรียนคุณภาพชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู"

 

ครูเหน่ง ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวมอบนโยบายให้แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.)ทั่วประเทศ  เมื่อเร็วๆ นี้

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเน้นย้ำปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 การศึกษาที่มีคุณภาพ คือ การศึกษาที่เด็กนักเรียนมาโรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคุณครู เพราะ กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายเปิดการเรียนการสอนแบบ On site 

“หากมีผู้ติดเชื้อโควิด19 ต้องมีมาตรการดำเนินการที่ชัดเจน มาตรการในการเรียนการสอน หรือปิดการเรียน On site เท่าที่จำเป็น ให้หยุดเฉพาะเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อ หยุดเป็นห้องเรียน การเรียนสลับเวลา การเรียนสลับชั้น มาตรการ 6-7-6 และมาตรการฉุกเฉินต้องถูกกำชับและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง”ครูเหน่ง ตรีนุช แจกแจงรายละเอียด

 

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน “สพฐ.” ได้เตรียมดำเนิน โครงการสอนเสริม ให้นักเรียน ช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2564 เนื่องจาก ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมานักเรียนอาจเรียนที่โรงเรียนไม่เต็มที่ และโรงเรียนบางแห่งอาจหยุดการเรียนการสอนบ่อยครั้ง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19


“ดังนั้น ดิฉันได้มอบหมายให้สถานศึกษาทั่วประเทศดำเนินโครงการสอนเสริม โดยให้สถานศึกษาและแห่งกำหนดเป้าหมาย โดยยึดบริบทของพื้นที่และความคาดหวังของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก” ครูเหน่ง อธิบายโครงการสอนเสริมให้ นักเรียนช่วงปิดภาคเรียน ไม่บังคับแล้วแต่สมัครใจ


เช่น นักเรียนใน "ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย" ครูอาจสอนเสริมเพื่อให้นักเรียนมีความพร้อมในการเข้าศึกษาต่อใน "ระดับอุดมศึกษา" และ นักเรียนใน "ระดับปฐมศึกษาตอนต้น" ครูอาจเน้นในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ เพื่อใช้ในการต่อยอดในการเรียนในระดับที่สูงขึ้นต่อไป 

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการสอนเสริมช่วงปิดเทอมภาค2/2564 ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของผู้ปกครอง และ นักเรียน ด้วย โดยไม่มีการบังคับนักเรียนให้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำ

 

สำหรับการสร้างคุณภาพทางการศึกษาให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในส่วนโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และระดับมัธยมศึกษานั้น "ครูเหน่ง ตรีนุช"   แจกแจงว่า เรามีเป้าหมายในการจัดทำแนวทางและแผนการสร้างโรงเรียนคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และสามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้กรอบระยะเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน

 

“ โรงเรียนใดเป็นโรงเรียนหลัก มีโรงเรียนใดบ้างที่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน ต้องมั่นใจว่าโรงเรียนหลักได้รับการสนับสนุนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง รูปแบบของการใช้ทรัพยากรร่วมกันการนำเด็กมาเรียนรวมครบชั้น ครบวิชา การเรียนแบบเครือข่าย การจัดสรรทรัพยากรครู สิ่งที่ต้องขอรับการสนับสนุนเพื่อให้แผนงานบรรลุเป้าหมาย บ้านพักครู จำนวนครู การจัดรถรับ-ส่ง เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการ ระบุ

 

หลากหลายโครงการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น โครงการพาน้องกลับมาเรียน ความปลอดภัยในสถานศึกษา โรงเรียนคุณภาพชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู อยู่ระหว่างเริ่มต้นโครงการ และศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อหาทางแก้ไข บางโครงการแทบไม่มีคนรู้จัก บางโครงการมีความซับซ้อนยุ่งยาก

 

โดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหา "หนี้ครู" หากจะสำเร็จได้ สุดท้ายสำคัญที่สุด น่าจะเป็นตัวครูเอง ที่จะต้องรับผิดชอบตัวเอง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ “ครูเหน่ง ตรีนุช เทียนทอง ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

หลังจากที่กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักว่า การศึกษาที่มีคุณภาพ คือ การศึกษาที่เด็กนักเรียนมาโรงเรียน และมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคุณครู ก็พยายามที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ on-site มาโดยตลอด 

 

โดยไม่มีการประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับโควิด-19 ให้เป็นปัจจุบัน อ้างเพียงแค่เหตุผลด้านสุขภาพว่า โควิด-19 อันตรายน้อยลงกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

 

โดยไม่ได้นำเอาผลกระทบทางด้านจิตใจ สังคม ครอบครัว และการดำเนินชีวิตมาพิจารณาด้วย โควิดไม่เป็นแค่อาการป่วยแต่เป็นโรคที่ต้องกักตัว14วัน รับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบสังคม ตามมาด้วยงานและรายได้ที่หายไป

 

ช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ค่อนข้างจะยาวนานและได้รับผลกระทบกันทุกคน เป็นเรื่องดีที่กระทรวงศึกษาธิการ มีแนวคิดจะดำเนิน “โครงการสอนเสริม” ให้นักเรียน ช่วงปิดภาคเรียนที่ 2/2564 เนื่องจาก ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมานักเรียนอาจเรียนที่โรงเรียนไม่เต็มที่ และโรงเรียนบางแห่งอาจหยุดการเรียนการสอนบ่อยครั้ง

 

 แต่ “รมว.ศึกษาธิการ ” ทราบหรือไม่ว่า ตลอดเวลาที่นักเรียนไม่ได้มาเรียนออนไซต์ที่โรงเรียน  ครูและบุคลากรทางการศึกษายังคงทำงาน หรือทำงานมากกว่าปกติ 

 

อุปกรณ์ทุกอย่าง การเรียนรู้ และการปรับตัวทุกอย่าง ในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน จาก on-site เป็นรูปแบบอื่นๆ อยากบอกว่า "ครูทุกคน" จัดหาและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องการ

 

"ครู" ลงทั้งทุน ลงทั้งแรง และก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ตลอดช่วงของการปิดภาคเรียนที่ 2 ของแต่ละปีการศึกษา มีภารกิจมากมายที่ถูกกำหนดไว้ให้ “ครู” ได้ปฏิบัติ

 

ไม่ว่าจะเป็น การประเมินผลและออกเอกสารการจบการศึกษาให้กับนักเรียน การรับนักเรียนเข้าเรียน การปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา การปรับปรุงแผนการสอน การจัดทำเอกสาประเมินต่างๆ อีกมากมาย ที่ต้องรายงานให้กับหน่วยงานต้นสังกัด ตามคำสั่ง

 

มีเวลาเหลือสักเพียงน้อยนิด "ครู" ก็ต้องรวบรวบหลักฐานเอกสาร เพื่อเรียบเรียง เสนอผู้บังคับบัญชา ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เหลือจากนั้นก็อาจจะมีบ้างเพื่อครอบครัวและตัวครูเอง

 

แล้วแบบนี้ “รมว.ศึกษาธิการ” ยังจะไม่ให้ “ครู” ปิดเทอมอีกหรือ???