ข่าว

"แก้หนี้ครู" พบมี "ครู" แห่ลงทะเบียนเกือบ 30,000 คน

"แก้หนี้ครู" พบมี "ครู" แห่ลงทะเบียนเกือบ 30,000 คน

08 มี.ค. 2565

กระทรวงศึกษาฯ เดินเครื่อง "แก้หนี้ครู" กว่า 9 แสนราย ยอดหนี้รวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท "ตรีนุช" กำชับเขตพื้นที่ฯ คุมเข้มการคำนวณเงินเหลือใช้จ่ายร้อยละ 30 ก่อนปล่อยกู้ พบ "ครู" แห่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเกือบ 30,000 รายแล้ว

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งใน การประชุมหาสัมมนาแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ “แก้หนี้ครู” โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กําหนดให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน”

 

โดยข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ ศธ. มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 9 แสนคน มียอดหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท

 

ซึ่งในจํานวนนี้เป็นหนี้ที่กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่งทั่วประเทศ รวม 8.9 แสนล้านบาท และหลังจาก ศธ. ได้เริ่มดําเนินโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 26,767 คน

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทั้งหมด 108 แห่งนั้น มีเพียง 13 แห่ง ที่กําหนด ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกิน 5% ต่อปี ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอย่างน้อย 13 แห่งกําหนดดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 7-9% ต่อปี 

 

สําหรับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีสมาชิก 8,478 ราย มูลหนี้รวม 9,631,331,007 บาท ได้กําหนดลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้อยู่ที่ประมาณ 5.5 % ซึ่งเป็นแนวทางสําคัญประการหนึ่ง ที่ทางสหกรณ์ฯ ได้ดําเนินการร่วมกันให้เป็นไปตามแนวทางที่กําหนด 

 

นอกเหนือไปจากที่ได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการ พักชําระหนี้ในปีที่ผ่านมา โดยทราบว่า ภายในปี 2565 ทางสหกรณ์ออมทรัพย์สุราษฎร์ธานี จะดําเนินการลดดอกเบี้ยตามแผนขั้นบันไดให้เหลือไม่เกิน 5%

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า  ที่ผ่านมาได้คัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อม เป็นสหกรณ์ต้นแบบ และจัดทําแผนและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นรูปธรรม กําหนดให้มี ”สถานีแก้หนี้” ในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับจังหวัด โดยผู้อํานวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) จะต้องเข้มงวดในการพิจารณา อนุมัติการก่อหนี้ใหม่ของครู 

 

"เมื่อรวมยอดหนี้แล้ว ต้องมีเงินเหลือให้ คุณครูได้ใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30% ของรายได้ ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มีนาคมนี้จะมีการประชุมทางไกลของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เป็นรูปธรรมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” น.ส.ตรีนุช กล่าว