"ครูเหน่ง" ลุยสระบุรีตามงานปักหมุด "เด็กพิการ" ต้องได้เรียน
"ครูเหน่ง" นำทีมผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี ติดตามการปักหมุด "เด็กพิการ" เข้ารับการศึกษา เดินสาย Kick-off สถานศึกษาปลอดภัย - พาน้องกลับมาเรียน
วันที่ 10 มี.ค. 2565 ที่จังหวัดสระบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการบันทึกข้อมูลนักเรียนพิการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ "ปักหมุดเด็กพิการ"
โดยดูการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม ของห้องเรียนภายในศูนย์ฯ ที่มีทั้งฝ่ายแรกรับและเตรียมความพร้อม ฝ่ายบกพร่องทางสติปัญญา ฝ่ายบุคคลออทิสติก ฝ่ายบกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหวหรือสุขภาพ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพเพื่อส่งต่อ และดูห้องเสริมพัฒนาการ อาทิ กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และนันทนาการ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กหญิงพิชญาภัค บุญช่วย ซึ่งพิการซ้อน และเด็กชายวิจิตรชัย เดชเพิ่ม ที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นนักเรียนรับบริการที่บ้านตามโครงการปักหมุดเด็กพิการ
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า จากการติดตามพบว่า นักเรียนของศูนย์ฯ ได้รับการปักหมุด หรือ บันทึกข้อมูลนักเรียนพิการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทุกราย ครูมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์การทำงานของระบบ มีการวางแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล
ทั้งนี้ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระบุรี มีหน้าที่จัดการศึกษาในลักษณะศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมของคนพิการ เพื่อเข้าสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนเรียนร่วม โรงเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งขณะนี้มีนักเรียน จำนวน 313 คน
โดยทางศูนย์ฯ ให้บริการใน 2 ลักษณะ ได้แก่
1.การให้บริการในศูนย์ฯ ซึ่งเป็นการให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม แก่ผู้มารับบริการแบบไป-กลับในชั้นเรียน จัดการเรียนการสอน ส่งเสริม ฟื้นฟูสมรรถภาพนักเรียนภายในศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสระบุรี มีนักเรียนรับบริการ จำนวน 60 คน
2.การให้บริการนอกศูนย์ฯ มีหน่วยบริการประจำอำเภอ 6 หน่วยบริการ ให้บริการนักเรียนใน 13 อำเภอ มีนักเรียนรับบริการ 88 คน ได้แก่ หน่วยบริการวิหารแดง มีนักเรียน 11 คน หน่วยบริการแก่งคอย มีนักเรียน 22 คน หน่วยบริการบ้านหมอ มีนักเรียน 9 คนหน่วยบริการหนองแค มีนักเรียน 19 คน หน่วยบริการพระพุทธบาท มีนักเรียน 19 คน หน่วยบริการวังม่วง มีนักเรียน 8 คน
นอกจากนี้ มีการให้บริการนักเรียนพิการที่รับบริการที่บ้าน ตามโครงการปรับบ้านเป็นห้องเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู มีนักเรียนรับบริการ 99 คน และการให้บริการนักเรียนพิการในห้องเรียนเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลสระบุรี มีนักเรียนรับบริการ 66 คน
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า การเดินทางมาจังหวัดสระบุรี ครั้งนี้ได้เปิดงาน Kick-off สถานศึกษาปลอดภัย เพื่อสร้างการรับรู้การเข้าถึงระบบมาตรฐานความปลอดภัยในสถานศึกษา หรือ SAFE สถานศึกษาปลอดภัย สัญจร ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ พุแค
พร้อมทั้งประชุมหัวหน้าส่วนราชการการศึกษาในจังหวัดเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพาน้องกลับมาเรียน โครงการโรงเรียนเครือข่ายคุณภาพ และติดตามการดำเนินโครงการ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)