"คดีแตงโม" เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ เปิดประกาศ กคพ. หลักเกณฑ์ และวิธีการ
"คดีแตงโม" เป็นคดีพิเศษได้หรือไม่ เปิดประกาศ คณะกรรมการคดีพิเศษ กคพ. เช็คหลักเกณฑ์ และวิธีการร้องขอ ใครมีสิทธิ
ตามที่ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รสนา โตสิตระกูล โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ "คดีแตงโม" ที่นักแสดงสาว "แตงโม นิดา" พลัดตกเรือจมน้ำกลางเจ้าพระยา โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งคดีนี้ไปให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการ ด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ
- หลักฐานประจักษ์ที่คุณเอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ แถลงกับสื่อ เกี่ยวกับบาดแผลบนร่างคุณแตงโม ค้านกับคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณเอกพันธ์เป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกู้ผู้เสียชีวิตมาหลายปี และเป็นผู้กู้ร่างคุณแตงโมด้วยตนเองย่อมสังเกตเห็นข้อพิรุธหลายประการบนร่างของผู้ตายอย่างชัดเจน จึงต้องออกมาพูดความจริงที่ค้านกับคำแถลงของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวแล้ว
- ตามที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ มีประเด็นติดใจ เรื่องการย้ายสถานที่ชันสูตรจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต ไปชันสูตรที่โรงพยาบาลตำรวจแทน ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยในความโปร่งใสของการแถลงผลชันสูตร เนื่องจากผู้แถลงผลชันสูตรจะไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่ไว้วางใจ ว่าอาจจะบิดเบือนผลการชันสูตรทางนิติวิทยาศาสตร์หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากมีกรณีตัวอย่างในคดีอื่นเป็นที่อื้อฉาวมาแล้ว
- หลักฐานและคลิปต่าง ๆ ที่นักสืบโซเชียลนำมาแสดงแก่สาธารณะ เมื่อวิญญูชนพิจารณาแล้วย่อมเห็นว่า เป็นหลักฐานประจักษ์พยานที่เป็นวิทยาศาสตร์น่าเชื่อถือ มิใช่เป็นการคิดเอาเอง ด้วยเหตุนี้ประชาชนส่วนใหญ่จึงเชื่อวัตถุพยานของนักสืบประชาชนมากกว่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยเหตุผลโดยสังเขป 3 ประการดังกล่าว ดิฉันจึงเสนอว่า ควรให้ DSI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการทำคดีที่มีเงื่อนงำซับซ้อน เป็นผู้รับผิดชอบทำคดีคุณแตงโม
จากการตรวจสอบ ประกาศ กคพ.หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอ "คดีแตงโม" และเสนอให้ กคพ.มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 149 ง ราชกิจจานุเบกษา 27 มิถุนายน 2561
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 10 วรรคหนึ่ง (4) มาตรา 12 และมาตรา 21
วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ประกอบกับมติคณะกรรมการคดีพิเศษ ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 คณะกรรมการคดีพิเศษจึงกําหนดหลักเกณฑ์ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอ และเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้
คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
(2) ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอ และเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
(3) ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอ และเสนอให ้กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
(4) คําสั่งคณะกรรมการคดีพิเศษ ที่ 1/2556 เรื่อง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณา ทําความเห็นเสนอ กคพ. เกี่ยวกับเรื่องการมีมติให้คดีความผิดทางอาญาอื่นเป็นคดีพิเศษที่ต้องดําเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2556
ข้อ 4 ให้อธิบดีเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ และมีอํานาจวางระเบียบแนวทางการปฏิบัติแบบรายงาน รวมถึงวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติตามประกาศนี้ คําวินิจฉัยชี้ขาดของอธิบดีเป็นที่สุด
ข้อ 5 ในประกาศนี้
“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“รองอธิบดี” หมายความว่า รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“หน่วยงาน” หมายความว่า กอง กองคดี สํานักงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นในกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ขึ้นการบังคับบัญชากับอธิบดี หรือที่อธิบดี มอบหมายให้ รองอธิบดีกํากับดูแล และหมายความรวมถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว ในการดําเนินการแทนหน่วยงานด้วย
“ผู้ร้องขอ” หมายความว่า กรรมการคดีพิเศษ ประชาชน องค์กรเอกชน นิติบุคคล ส่วนราชการ
รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ยื่นคําร้องขอ
“คําร้องขอ” หมายความว่า คําร้องที่ผู้ร้องขอขอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)
“คณะอนุกรรมการกลั่นกรอง” หมายความว่า คณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการคดีพิเศษแต่งตั้งตามข้อ 12 เพื่อทําหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคําร้องขอที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ดําเนินการ และเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการคดีพิเศษเกี่ยวกับการมีมติให้คดีความผิดทางอาญาเป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)