ข่าว

"เอ้-สุชัชวีร์" โชว์วิสัยทัศน์ ชี้กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองสวัสดิการ

"เอ้-สุชัชวีร์" โชว์วิสัยทัศน์ ชี้กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองสวัสดิการ

13 มี.ค. 2565

"เอ้-สุชัชวีร์" บอก งานผู้ว่าฯกทม. เป็นงานแบกหิน พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ ชี้กรุงเทพฯต้องเป็นเมืองสวัสดิการ จะเปลี่ยนกรุงเทพได้ ต้องเปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนเป็นเรื่องแรก สวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข จะทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถลุกขึ้นมาได้ เดินได้ ทันสมัย

13 มี.ค. 2565  "ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ในงานที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด The 2 Leaders’ Visions เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ของ 2 บุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ "เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค โดยกล่าวว่า  วันนี้หน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานหินจริง ๆ ถ้า ผู้ว่าฯ กทม. อายุมากกว่านี้ ก็ไม่ไหว เพราะ 50 เขตที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องดูแล และแต่ละเขตมีปัญหาแตกต่างกัน มีความซับซ้อน มีความละเอียดอ่อน แตกต่างกัน

 

ซึ่งงานผู้ว่าฯ กทม. อันดับแรก คืองานแบกหิน เพราะฉะนั้น ขาต้องแข็งแรง สุขภาพร่างกายต้องฟิตตลอดเวลา ไม่คิดว่าอายุมากกว่านี้จะทำงานนี้ได้ง่าย ๆ เพราะเป็นงานที่หนักมาก ๆ ร่างกาย – สมอง- จิตใจ เป็นส่วนสำคัญ เรื่องของสมองวันนี้ เราได้สมองมาเต็มกำลังทุกด้าน การประมวลทุกอย่างลงมาแล้วออกเป็นนโยบายแล้วทำได้จริง ก็เป็นงานหินอีกเหมือนกัน เพราะงบประมาณจำกัด คนมีความจำกัด หรือตัวผู้ว่าฯ ก็มีเวลาจำกัด

 

เรื่องของจิตใจก็สุด ๆ มีเพื่อน ๆ หลายคนบอกว่า เอ้ น้องเอ้ พี่เอ้ อย่าท้อนะ เพราะตั้งแต่เปิดตัวมา 3เดือน เจออะไรบ้างเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ตนมีอาชีพที่มีเกียรติ มีครอบครัวเล็ก ๆ ที่มีความสุขได้กลับบ้านทุกวัน วันนี้ไม่ได้เจอหน้าลูก ออกมาตั้งแต่เช้ากลับค่ำ เจอแรงทุกรูปแบบ แต่วันนี้ที่ตนออกมา เพราะอยากเห็นบ้านเมืองนี้มันเปลี่ยนแปลง แต่วันนี้เราจะสอนลูกอย่างไร เพราะทุกอย่างมันบิดเบี้ยวไปหมด 

ดังนั้นการอยู่ในเมืองอย่างนี้ ที่หัวหน้าจุรินทร์บอกว่าเป็น Mini Thailand นั้น สิ่งสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนเมืองก็คือการเปลี่ยนชีวิตคน ความสุขของคนในเมืองจะอยู่ที่ว่า เขามีห่วงน้อยที่สุด ห่วงสุขภาพ ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยเขามีคนได้ดูแลรักษา

 

แต่สิ่งที่เห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือการได้เห็นคนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ขณะลงไปดูชุมชน เขาป่วยด้วยโรคโควิด และเสียชีวิตด้วยอายุเพียง 61 เท่านั้น ทั้งที่โรงพยาบาลที่ดีที่สุดอยู่ฝั่งตรงข้ามชุมชนเท่านั้น และเมื่อได้เจอเด็กตัวเล็ก ๆ สิ่งที่ทำคืออุ้มขึ้นมา เพราะตนก็มีลูก 3 ขวบแต่ปรากฎว่าเมื่ออุ้มเด็ก 4 ขวบ พวกเขาเบาหวิว

 

ศูนย์ดูแลเด็กเล็กบางศูนย์ มีเด็กไม่ถึง 20 คน เขาจึงได้รับเงินเป็นรายเดือน ต้องทำอาหารแจก ได้นม 24 กล่อง แสดงว่าเด็กไม่ได้กินนมครบทุกวัน ไข่ 15 ฟอง ไม่ถึงสัปดาห์หมด ความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพมหานครไม่ใช่วาทกรรม แต่นี่คือเรื่องจริงที่เราจะเลือกดูหรือไม่ดูเท่านั้นเอง

 

และทุกเขตน้ำเน่าครบทุกเขต บางเขตน้ำเน่าเหม็นตรงนี้อีก 5 ก้าว ถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำของโลกที่มีน้ำพุที่สวยที่สุด น้ำสะอาดนั่นคือ Luxury ไปแล้วหรือในเมืองแห่งนี้ แต่น้ำเน่าคือของคน กทม. ผมบอกเลยว่า หน้าที่ของผู้ว่าฯกทม. ร่างกายนั้นสำคัญมากในการจะรับมือพวกนี้ สมองในการประมวลผลวันนี้ ผมจดจนมือเป็นระวิงและจิตใจ สิ่งที่เกิดขึ้นมันกว่าทั้งร่างกายและความรู้ก็คือ passion ที่อยากจะเปลี่ยนแปลง และมันต้องอาศัยความกล้าสุด ๆ กล้าที่จะรับการโดนทุกรูปแบบได้” "ศ.ดร.สุชัชวีร์" กล่าว

หลายๆ คนถามว่าการโดนทุกรูปแบบแล้วรู้สึกอย่างไร ตนบอกได้ว่า เป็นเรื่องการทดสอบ เพราะกว่าที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้ต้องทนให้ได้ก่อน ทนทั้งร่างกาย ทนทั้งสมอง ทนทั้งสภาพจิตใจ แต่จากการรับฟังจากทุกคนอย่างตั้งใจก็คือ 2 คำ โอกาส และ การแข่งขัน 


ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2564 หลังจากได้ประกาศวิสัยทัศน์ ถ้าผู้นำยังมองเล็ก ๆ ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เพราะกรุงเทพฯ ยิ่งเดินยิ่งรู้เลยว่า ปัญหาใหญ่จริง ๆ การแก้ด้วยทีมเล็ก ๆ ไม่มีทางแก้ปัญหากรุงเทพฯ ได้เลย ขอบคุณที่ได้แนะนำให้ Think Global ถูกต้องที่สุดและหัวหน้าก็บอกแล้วว่าอย่ามองแค่กรุงเทพฯ ต้องกรุงเทพฯ และปริมณฑล อย่ามองเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมองทุกคนและต้องมองว่า นี่คือตัวอย่างของประเทศไทยถ้ากรุงเทพฯ เปลี่ยนไม่ได้อย่าหวังว่าประเทศจะเปลี่ยนได้

 

แต่การ Think Global อย่างเดียวไม่พอ ต้อง Act Local ด้วย เพราะทุกวันนี้ฟุตบาท - ถนนไม่เคยเรียบเลย ทั้ง ๆ ที่ถนนในเยอรมนี ออสเตรียสร้างยากกว่ากรุงเทพฯ ไม่รู้กี่เท่า แต่ถนนเขาไม่ทรุด กรุงเทพฯ เรารู้สัณฐานของจริงยิ่งกว่าใคร แต่ไม่เคยเรียบ บริการสาธารณสุขในเมืองที่มีประชากรขนาดเท่าเรา หรือมากกว่าเรา เขาพัฒนาไปไกลแค่ไหน ตรงนี้การที่มีวิสัยทัศน์ที่กว้าง ได้เห็นภาพรวมจึงมีความสำคัญ แต่ก็ต้องทำลงไปแบบมีวิสัยทัศน์แบบสากล 

 

วิสัยทัศน์ที่บอกชัดคือ กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองสวัสดิการ ที่ทันสมัย ต้นแบบอาเซียน เพราะสวัสดิการ คือการประคับประคองทุกคนให้พอที่จะยืนได้ แต่ถ้าเด็กยังได้แค่ 20 บาทก็ยืนไม่ได้ ถ้าการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข ต้องไปอออยู่ที่โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์บริการสาธารณสุขไม่มีหมอเฉพาะทาง ตอนบ่ายไม่ต้องตรวจ ทั้งที่มีศูนย์กระจายอยู่ 19 แห่ง ทั่ว กทม. มีศูนย์ย่อยเกือบ 100 แห่ง มีศูนย์ทุกชุมชน แต่เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ทำหน้าที่เพียงแค่ส่งต่อเท่านั้น แล้วจะมีไปทำไม สิ่งนี้ก็คือ คิดไม่ครบ ทำไม่จบ

 

ขณะที่เรื่องการศึกษานั้น สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องทำคือการมีโรงเรียนดีมีคุณภาพใกล้บ้าน 50 เขต ต้องมี 50 โรงเรียนต้นแบบ แต่ปัจจุบันเคยสังเกตหรือไม่ว่าต้องย้ายโรงเรียน 5 ครั้ง ศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชน - อนุบาลถึงประถม - มัธยมต้น – มัธยมปลาย - มหาวิทยาลัย ขณะที่โรงเรียนสาธิต ดูแลตั้งแต่ก่อนชั้นอนุบาล – ประถม – มัธยม – มหาวิทยาลัย

 

ดังนั้นการมีโรงเรียนต้นแบบลักษณะนี้ จะทำให้ไม่ต้องย้ายโรงเรียนเลย และยังทำให้จัดหนักจัดเต็มได้ เพราะคุ้ม มีห้องสมุดที่ดีที่สุดได้ มีครูที่ดีที่สุดได้ มีครูภาษาอังกฤษจากอังกฤษอเมริกาได้ เพราะ 1 โรงเรียน 1 เขต เดินทางไม่นาน 

 

ศูนย์บริการสาธารณสุขวันนี้ ในหลายเขตสร้างไว้อย่างดี แต่ไม่มีคน เพราะไม่มีหมอ แต่แค่เพิ่มหมอ 3 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น และเป็นหมอเฉพาะทาง ชีวิตคนกรุงเทพฯ เปลี่ยน เพราะไม่ต้องไปอั้น หรือไปออที่โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของรัฐ จากการที่ได้เดินดูปัญหาทั้ง 40 เขต พบว่ามีผู้สูงอายุทุกบ้าน ตั้งแต่บ้านมีรั้ว คอนโดมิเนียม แฟลต ชุมชน หมู่บ้านเก่า ๆ จนถึงชุมชนที่ผู้สูงอายุไม่ได้ติดเตียง แต่ติดเสื่อเพราะไม่มีเตียงให้ติด 

 

การเป็นเมืองสวัสดิการอย่างนี้ สามารถคำนวณได้เลยว่า ในอนาคตผู้สูงอายุมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ และท่านมีอายุยืนขึ้น เพราะมียาดีขึ้น มีการตรวจจับดีขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นการอยู่อย่างมีคุณภาพ เมื่อผู้สูงอายุมีมากขึ้น ขณะที่เด็กรุ่นที่ได้ค่าอาหารกลางวันเพียง 20 บาท ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาแบบจัดหนักจัดเต็ม เมื่อเด็กกลุ่มนี้โตขึ้นมาจะแบกประเทศไหวได้อย่างไร 

 

เพราะในอนาคต 1 คน จะแบกคนผู้สูงอายุ 8 คน แล้วคนที่จะแบกขนาดนั้น ขาต้องแข็งแรง ร่างกายต้องสมบูรณ์แค่ไหนถึงจะจ่ายภาษีได้ขนาดนั้น สมองต้องดีแค่ไหน จิตใจต้องทนทานแค่ไหน แต่กรุงเทพฯ วันนี้ไม่พร้อมเลย  แต่ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทำได้ เพราะเรื่องการจัดการศึกษา การจัดสาธารณสุข มีอำนาจหน้าที่เบ็ดเสร็จ 2 ส่วนนี้ ต้องทำจริงจัง ทำให้ครบทำให้จบ ชีวิตคนกรุงเทพฯพลิกทันที 

 

ดังนั้น สวัสดิการ ด้านการศึกษา สาธารณสุข จะทำให้คนกรุงเทพฯ สามารถลุกขึ้นมาได้ เดินได้ ทันสมัย คือการทำให้เขาได้วิ่ง ถ้าผมมีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องเป็นเมืองที่อินเทอร์เน็ตเป็นสวัสดิการพื้นฐานของเมือง เหมือนอีก 59 เมืองทั่วโลก ซึ่งเรื่องนี้ได้คำนวนไว้แล้ว กรุงเทพฯ ประมาณ 1,600 ตร. กม. 150,000 จุด กรุงเทพฯ มีกำลังทำได้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงออนไลน์จะทำให้ชีวิตเปลี่ยน การมีอินเทอร์เน็ตฟรี 150,000 จะทำให้เด็กมีโอกาสเห็นโลก พ่อค้าแม่ค้าขายของออนไลน์ได้ และทำให้ระบบสาธารณสุขเข้าถึงพี่น้องประชาชนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ จากการที่เคยเป็นอธิการบดีผมเห็นแล้วว่าคนไทยทำได้ มีหมอ มีอุปกรณ์ที่ดี ชีวิตเปลี่ยน 

 

เรื่องน้ำคือชีวิต ถ้าน้ำยังเน่า ชีวิตก็ไม่มีทางดีได้ การที่กรุงเทพฯ มีน้ำเน่า น้ำท่วม เป็นเพราะน้ำนิ่ง น้ำตาย น้ำเน่า จากการได้ไปดูประตูระบายน้ำมาแล้วร่วมร้อยแห่ง พบว่าบางประตูไม่เคยเปิด หรือไม่เคยปิด หรือไม่เคยทำงานทิ้งไว้เลย หรือที่มีอยู่ก็รอคน รอคำสั่งให้เปิดให้ปิด

 

แต่ที่จริงแล้ว เมืองที่ทันสมัยการไหลเวียนของน้ำเหมือนเส้นเลือดของเมือง เป็นระบบอัตโนมัติหมดแล้ว เช่นเดียวกับระบบปั๊ม ซึ่งจะเห็นว่าตามชุมชนยังใช้ปั๊มดีเซล และต้องไขกุญแจ ไม่มีแบตเตอรี่ ต้องแบกแบตเตอรี่มาเพราะกลัวหาย เรื่องนี้สะกิดนิดเดียว จุดนิดเดียว กรุงเทพฯ เปลี่ยนทันที 

 

สำหรับการเป็นต้นแบบของอาเซียน เป็นเรื่องที่จะทำให้คนได้วิ่งเร็วที่สุด เพราะผมเชื่อเรื่องการแข่งขัน ถ้าศูนย์บริการสาธารณสุขแข่งกันบริการประชาชน ผู้อำนวยการเขตแข่งกันทำงานให้เร็ว โรงเรียนแข่งกันพัฒนาคุณภาพ แต่มีบางคนบอกว่า การสอนเด็กให้แข่งตัวเองนั้นไม่ถูก ซึ่งตนก็ยืนยันว่าไม่ถูก หรือสอนให้ข้าราชการทำงานโดยไม่แข่งขันกับคนอื่นก็ไม่ถูก หรือนักธุรกิจถ้าไม่แข่งขันก็ไม่มีทางรอด

 

ดังนั้นการที่จะเป็นต้นแบบของอาเซียนทำให้ตาของเราจับจ้องสิ่งที่มันควรจะดี ซึ่งการมองสิ่งที่ดีเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายตรงนั้นให้ได้ แต่ถ้าไม่พูดอะไร มันก็เหมือนเดิม อีก 4 ปี เลือกตั้งใหม่ก็เหมือนเดิม จนคนแทบจะหมดหวังไปแล้วว่าเปลี่ยนไม่ได้ 

 

ผมขอบคุณทุกท่าน ที่มาพร้อมกับพลังที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง พลังบวกที่เชื่อว่าเปลี่ยนได้ ซึ่งผมก็เชื่ออย่างนั้นว่ากรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสวัสดิการ ให้คนลุกขึ้นมา ประคองเขาเข้ามาได้ กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่ทันสมัย ที่ทำให้คน ให้เมืองให้ระบบต่างๆ พอจะวิ่งได้ และกรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองต้นแบบที่ทำให้คนจับจ้อง เพราะเขาแข่งขันได้ เขาต้องวิ่งให้เร็วที่สุด สุดความสามารถ ให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ดีขึ้น ให้เมืองดีขึ้น

 

ผมกราบขอบคุณทุกท่าน และขอบคุณที่มาใส่พลังให้ผม ผมเดินมาแล้ว 40 เขต ไม่หยุดแม้แต่วันเดียว ผมเหนื่อยนะเป็นมนุษย์ แต่วันนี้ท่านทำให้ผมคึกขึ้นมาอีก และผมคึกอย่างนี้ตลอดไป เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ เพื่อที่จะสู้ ที่จะกล้าหาญและไม่กลัวการโดนอะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายให้กรุงเทพฯของเรานั้น แก้ปัญหาซ้ำซากได้ไม่เอาแล้วให้มันจบในรุ่นเรา และวางรากฐานส่งมอบกรุงเทพฯถึงลูกหลานอย่างภาคภูมิใจได้ "ศ.ดร.สุชัชวีร์ "กล่าว