เดินหน้าสร้างแหล่งน้ำในไร่นาสมาชิกสหกรณ์และ "กลุ่มเกษตรกร"
กสส.เดินหน้าหนุนสร้างแหล่งน้ำในไร่นาสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเพื่อความยั่งยืนในอาชีพการเกษตร ปลื้ม "เกษตรกร" มีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 5 หมื่นต่อปี
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังคงเดินหน้าโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ "เกษตรกร" ที่เป็นสมาชิกของ "สถาบันเกษตรกร" สร้างแหล่งน้ำในไร่นาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่สำหรับทำการเกษตร เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้สามารถทำการเกษตรได้ต่อเนื่องลดการพึ่งพิงน้ำฝนเพียงอย่างเดียวส่งผลให้ครัวเรือนสามารถมีรายได้และมีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรมากขึ้น
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศเป็นอย่างมาก ประกอบกับสมาชิกที่ขอสนับสนุนเงินทุน ล้วนมีความซื่อสัตย์ต่อการชำระคืนเงินกู้ที่รัฐบาลช่วยเหลือผ่านกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรโดยวัดผลจากการชำระเงินคืนตรงเวลากับที่โครงการระบุไว้ว่าภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม "เกษตรกร" จำนวนมากยังต้องการแหล่งน้ำ กรมจึงได้เสนอโครงการระยะที่ 2 ผ่านคณะรัฐมนตรีใช้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อสนับสนุนสมาชิกไปใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อความอยู่ดีกินดีเพิ่มขึ้น
เงินกู้ที่ได้กรมจะจัดสรรให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร นำไปปล่อยกู้แก่สมาชิกแบบปลอดดอกเบี้ยโดยกำหนดให้สมาชิกกู้ได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับขุดสระน้ำหรือบ่อบาดาล เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมเนื่องจากที่ผ่านมา หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร นายวิศิษฐ์ กล่าว
นางบัวผัน ยินดี สมาชิกสหกรณ์นิคมแคนดง จำกัด จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า โชคดีที่ได้กู้กองทุนนี้ 5 หมื่นบาทและตนเองได้ไปกู้สหกรณ์มาเติมอีก 5 หมื่นบาทเพื่อเจาะบ่อบาดาล ซึ่งก่อนหน้านั้นที่ดิน 10 ไร่ ทำนาปีได้หนึ่งครั้งเท่านั้น บางปีแล้งจัดลงทุนไร่ละ 5 พันบาท ข้าวก็เสียหาย หลังมีบ่อบาดาลครอบครัวดีใจมาก ทำนาได้ผลและหลังนาสามารถปลูกข้าวโพดกินฝักทั้งข้าวโพดหวานข้าวโพดข้าวเหนียวและถั่วลิสงเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวทั้งปี โดยจะขายข้าวโพดในราคาฝักละ 5-10 บาท ถั่วลิสงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้มีเงินใช้หมุนเวียนในบ้านทุกวันไม่น้อยกว่า500 บาทต่อวัน
นอกจากนั้นเมื่อมีน้ำยังได้เลี้ยงวัวอีก 4 ตัวโดยได้มูลวัวมาเป็นปุ๋ยใส่ข้าวโพด ไม่ต้องซื้อมูลวัวที่เดิมต้องซื้อครั้งละ 30 กระสอบ ๆ ละ 40 บาท และต้นข้าวโพดยังนำมาสับเป็นอาหารวัวได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับวัวนั้นจะเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับครอบครัวในอนาคต
นายอ่อนสา จงใจดี สมาชิกสหกรณ์การเกษตรคูเมือง จำกัด จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่าเป็น "เกษตรกร" ที่อยู่ในโครงการระยะที่ 1 โดยกู้ 5 หมื่นบาทเพื่อมาทำสระน้ำ 2 แห่งและบ่อบาดาลโดยลงทุนจริงทั้งหมด 7 หมื่น ซึ่งตนเองทำนา 14 ไร่เป็นข้าวหอมมะลิใช้น้ำฝนเป็นหลัก ในช่วงแล้งแม้ปลูกผักขายก็ขาดแหล่งน้ำหลังจากได้แหล่งน้ำ ได้ขยายพื้นที่ 4 ไร่สำหรับทำเกษตรกรรมผสมผสานเน้นผักสวนครัว ส่วนมากเป็นพริก ผักบุ้ง ผักกาดพื้นเมืองเพื่อเป็นรายได้สำหรับใช้ประจำวันปกติจะมีรายได้ประมาณ 500 – 700 บาท
แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้ตลาดไม่ค่อยมีคน จึงได้ปรับการขายโดยใส่รถซาเล้งไปขายทำให้มีรายได้ลดลงเหลือประมาณ 300 - 500 บาทต่อวันซึ่งแม้จะน้อยแต่ก็ยังเพียงพอสำหรับการใช้ 2 คนกับภรรยา ส่วนลูก ๆ ไปทำงานในเมือง จึงถือว่าชีวิตดีกว่าเดิมจากที่ต้องรอขายข้าวเพียงอย่างเดียว
นางพักตร์พิมล ศรีบุญเรือง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรภูเรือ จำกัด จ.เลย ขอสนับสนุนเงินทุนเพื่อขุดเจาะบ่อบาดาล ใช้ในแปลงเกษตรทำเกษตรกรรม 12 ไร่ เดิมปลูกยางพาราและทำนาข้าว 6 ไร่ ต่อมาปรับเป็นเกษตรผสมผสานเพราะผลผลิตข้าวไม่เพียงพอ ในการทำเกษตรจะปั๊มน้ำขึ้นพักที่บ่อและทำฝายรวมทั้งคลองไส้ไก่ในพื้นที่ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดปีเพื่อปลูกผักขายในพื้นที่สร้างรายได้ทุกวัน เฉลี่ยมีรายได้ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อปี
ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตร ระยะที่ 2 วงเงิน 500 ล้านบาท คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เมื่อ 24 ก.พ. 2563 เพื่อให้กรมดำเนินการเป็นระยะที่ 2 โครงการปี 2563-68 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้ต้นเงิน 2 ปี แบ่งชำระคืน 4 งวดเริ่มงวดแรก มี.ค. 2565
มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 51 จังหวัด ได้อนุมัติเงินกู้แล้วเสร็จ เป็นสหกรณ์และ "กลุ่มเกษตรกร"รวม 384 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ 273 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 111 แห่ง สมาชิก 10,297 ราย ซึ่งกรมได้มีการดำเนินการตรวจสอบและจัดทำพิกัด พบว่าสมาชิกขุดสระกักเก็บน้ำ 3,258 ราย ขุดเจาะบ่อบาดาล 6,833 ราย จัดซื้ออุปกรณ์ 149 ราย ทั้งนี้ มีกำหนดส่งคืนเงินกองทุนงวดแรกจำนวน 120 ล้านบาท ภายในเดือน เม.ย.2565
สำหรับระยะที่ 1 ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559-2564 ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 300 ล้านบาท กรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถรวบรวมส่งคืนให้กับกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรได้ตามเงื่อนเวลาที่สิ้นสุดโครงการ เมื่อ 13 ก.ย. 2564 โดยได้มีการชำระเงินคืนกองทุนทุกปี ๆ ละ อย่างน้อยร้อยละ 20 ของต้นเงินหรือประมาณปีละ 50 ล้านบาท รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 276 ล้านบาท
โดยเป็นเงินจ่ายขาดค่าบริหารโครงการ 2.99 ล้านบาท มีจังหวัดเข้าร่วมโครงการ 60 จังหวัด สหกรณ์และสถาบันเกษตรเข้าโครงการ 405 แห่ง เป็นสหกรณ์ 271 แห่ง "กลุ่มเกษตรกร" 134 แห่ง สมาชิกรวม 5,807 ราย แยกเป็นสมาชิกขุดสระเก็บน้ำ 2,167 ราย ขุดเจาะบ่อบาดาล 2,531 ราย จัดซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 1,109 ราย
อย่างไรก็ตามมีสมาชิกคงค้างบางส่วน กรมได้มีการเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาขยายโครงการและขอระงับค่าเบี้ยปรับจากต้นเงินคงค้าง 13 จังหวัด จำนวน 1.7 ล้านบาท เมื่อการประชุมวันที่ 3 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมาซึ่งกรรมการเห็นชอบ ณ ปัจจุบันคงค้างเหลือ 4 จังหวัดเป็นเงิน 8 แสนบาท