ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา สร้างโรงงานปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์"
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" พร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงาน(โรงงานA1)
กรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลักผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และกระจาย "เมล็ดพันธุ์ดี"ไปสู่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันแนวโน้มความต้องการ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" คุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น กรมการข้าวจึงได้จัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์เพื่อตอบสนองต้องการใช้ "เมล็ดพันธุ์ข้าว"คุณภาพดีของเกษตรกรโดยการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามความต้องการของเกษตรกร
นายกฤษฎิน คำตัน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์คือ เนื่องจากมีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระบาดตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 ก็มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเกษตรก็จะมีผลกระทบ ทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง แล้วก็ปัจจัยการผลิตต่างๆขาดแคลน
ดังนั้น กรมการข้าวจึงได้มีแนวทางยกระดับรายได้ของเกษตรกรและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" ขึ้นซึ่งโครงการนี้จะใช้งบประมาณภายใต้เงินกู้ของกระทรวงการคลัง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
นอกจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ลูกหลานของเกษตรกรที่ไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ ก็ได้รับผลกระทบ ถูกเลิกจ้างงาน บางส่วนก็กลับมาอยู่ที่บ้าน เมื่อกลับมาอยู่ที่บ้านก็ต้องมาทำนา เนื่องจากว่าอาชีพทำนาเป็นอาชีพที่จำนวนเกษตรกรเยอะที่สุดในประเทศไทย
แต่ปัญหาคือ "เมล็ดพันธุ์" ไม่เพียงพอ กรมการข้าวจึงได้เสนอโครงการนี้กับทางคณะรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติในช่วง วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต "เมล็ดพันธุ์" ให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร แล้วกระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่เกษตรกรให้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่กลับมาจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพ และสามารถเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับเกษตรกรได้ในอีกทางหนึ่ง
แล้วอีกประเด็นหนึ่งคือ เป็นจุดที่จะใช้ในการศึกษาดูงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ต้องการดูนวัตกรรมด้านการผลิต"เมล็ดพันธุ์" ที่ได้คุณภาพ
นายกิตติศักดิ์ เอกรุณ นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เปิดเผยว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้มีการดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงงานปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" และการจัดซื้อเครื่องจักร ซึ่งติดตั้งในโรงงานอาคารปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
โดยโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์ได้เริ่มก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม จนมาถึงปัจจุบันได้ดำเนินงานแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้รับการปรับปรุงเครื่องจักรปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ จัดหาชุดเครื่องชั่งบรรจุพร้อมจัดเรียงแบบอัตโนมัติ เพิ่มระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์โรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
รวมถึงก่อสร้างอาคารพร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ประจำโรงงานใหม่ซึ่งสามารถรองรับเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการผลิตภาคการเกษตรได้
นายกฤษฎิน คำตัน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมเครื่องจักร เครื่องมือของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ซึ่งเป็นเครื่องมือรุ่นวิวัฒนาการของเครื่องมือสมัยนั้นก็ถือว่าดีที่สุด ณ สมัยนั้น
แต่เวลาผ่านไปประมาณ 30-40 ปี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรลดลง แล้วก็ประสิทธิภาพในการปรับปรุงสภาพ "เมล็ดพันธุ์" ให้ได้ตามความต้องการของศูนย์ในการที่เราจะเพิ่มศักยภาพ ถือว่ายากลำบากในการทำงาน ขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ก็ยังใช้แรงงานคนในการดำเนินงานเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มเป้าหมายการผลิตได้ เมื่อมีโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์เข้ามาก็สามารถที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของศูนย์ได้ถึง 1,500-2,000 ตัน เนื่องจากเป็นเครื่องจักร เครื่องมือรุ่นใหม่ สามารถที่จะลดแรงงานของคนที่จะนำไปใช้ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย สามารถรับเมล็ดพันธุ์ได้ปริมาณมากขึ้น และยังสามารถตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี
สำหรับโครงการเพิ่มศักยภาพและปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว จะเข้ามามีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ที่จะทำให้กรมการข้าวบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ตลอดจนช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid 19) ให้ชาวนาทุกคนได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดี มีคุณภาพตามมาตรฐาน ได้ใช้อย่างทั่วถึง ทันเวลาต่อไป