"ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา" พัฒนาข้าวไทยเพื่อความยั่งยืน
ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ส่งเสริมกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ช้างทอง นครราชสีมา ผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว"ได้มาตรฐาน สู่การพัฒนาข้าวไทยเพื่อความยั่งยืน
กรมการข้าว เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาวิจัยสำหรับข้าวในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานส่วนกลางที่ปฏิบัติงานอยู่ตามส่วนภูมิภาค ดังเช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ที่มีการส่งเสริมเกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจในการผลิตข้าวในปัจจุบันให้ได้ผลผลิตดี โดยการผลิตเป็น "เมล็ดพันธุ์" ในรูปแบบกลุ่ม ซึ่งจะได้ผลผลิตสูง ราคาสูงกว่าท้องตลาด ทั้งยังสามารถต่อยอดให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย
สฤษดิ์ พูนสังข์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เปิดเผยว่า บทบาทหน้าที่ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ในการส่งเสริมเกษตรกรผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว"คุณภาพดีนั้นเริ่มจากมีการประชุมเพื่อวางแผนการผลิต คัดเลือกพื้นที่และคัดเลือกเกษตรกรที่มีความสมัครใจในเรื่องของการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งศูนย์ก็จะมีการนำ "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ที่ผ่านการอนุมัติจากกรมการข้าว โดยรับจากศูนย์วิจัยข้าว ที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ตามบัญชีจัดสรรมาให้กลุ่มเกษตรกรผลิตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยในกระบวนการผลิต ศูนย์จะมีการประชุมและติดตามการจัดทำแปลงของกลุ่มเกษตรกรเป็นระยะ ตั้งแต่ระยะปลูก ระยะแตกกอ ระยะออกดอก ระยะโน้มรวง จนถึงระยะการเก็บเกี่ยว เมื่อถึงขั้นตอนก่อนการเก็บเกี่ยว ศูนย์ก็จะมาตรวจตัดสินแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการ เพื่อประเมิน "เมล็ดพันธุ์" ที่ปลูกว่าผ่านตามมาตรฐานหรือไม่
โดยการตรวจแปลงจะใช้ระเบียบสำนักเมล็ดพันธุ์ข้าวว่าด้วยมาตรฐานแปลงขยายพันธุ์ พ.ศ. 2553 ในการตรวจตัดสินว่าแปลงผ่านมาตรฐานหรือไม่ เมื่อแปลงขยายพันธุ์ผ่านมาตรฐาน ศูนย์ก็จะดำเนินการจัดซื้อ "เมล็ดพันธุ์" คืน ภายใต้มาตรฐานระเบียบกรมการข้าว ว่าด้วยมาตรฐานคุณภาพ"เมล็ดพันธุ์ข้าว" ในกระบวนการผลิต พ.ศ. 2557
การจัดซื้อก็จะเป็นการจัดซื้อในรูปแบบของข้าวความชื้นสูงทั้งหมด ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลช้างทอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ นครราชสีมา ศูนย์ได้เข้ามาประชุมและวางแผนการเพาะปลูกในช่วงวันที่ 17 พฤศจิกายน-5 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ถ้าข้าวที่ปลูกได้ประมาณ 120 วัน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวแล้วนำไปจำหน่ายที่ศูนย์ต่อไป
สฤษดิ์ พูนสังข์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของตำบลช้างทอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นกลุ่มเดิมที่ผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เป็น10-20 ปี ก็จะมีองค์ความรู้ในเรื่องการจัดทำแปลง ในเรื่องการตรวจตัดพันธุ์ปน ในเรื่องของวิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ถือว่าสามารถผลิตได้ตามระเบียบหรือว่ามาตรฐานของกรมการข้าว แต่ละปีศูนย์ก็จะสรุปผลของการจัดซื้อว่ากลุ่มที่เป็นสมาชิกศูนย์ผลิตได้เป้าหมายที่ศูนย์กำหนดไว้หรือไม่หรือว่าผลิตได้เกินเป้าหมาย ก็จะเป็นตัวประเมินกลุ่มอีกทีว่ากลุ่มมีศักยภาพในการ "ผลิตเมล็ดพันธุ์" ให้กับทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ได้มากน้อยขนาดไหน
แต่โดยรวมของกลุ่มนี้ก็ถือว่าผ่านมาตรฐานค่อนข้างสูง หรือว่าเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ก็จะต้องติดตามตั้งแต่ข้าวอยู่ในแปลง มาตรวจตัดสินข้าวอย่างเคร่งครัด เพราะว่าถ้าเกษตรกรขนไปแล้วไม่ผ่านมาตรฐาน เกษตรกรต้องขนกลับ อันนี้ก็จะเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และที่สำคัญในการลงแปลง การตรวจแปลงหรือว่าก่อนที่จะตรวจจริง เกษตรกรต้องสำรวจแปลงนาของตนเองทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นข้าว ถ้าเจอก็ต้องถอนพันธุ์ปนหรือข้าวแดงที่พบออกจากแปลงให้หมด
สมหมาย ดามะดัน ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ช้างทอง
ด้านนางสมหมาย ดามะดัน ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ต.ช้างทอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา เล่าว่า จากเดิมประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ ขาดรายได้ ราคาขายต่ำกว่าทุน แต่เมื่อได้มีโอกาสรวมกลุ่มผลิต"เมล็ดพันธุ์ข้าว" ภายใต้คำแนะนำศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ตั้งแต่การเริ่มต้นรวมกลุ่มจนถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่งผลให้วันนี้สมาชิกภายในกลุ่มสามารถผลิตข้าวได้คุณภาพมาตรฐาน มีความเข้มแข็ง สามารถต่อรองราคากับท้องตลาดได้และมีตลาดรองรับที่แน่นอน จึงได้เริ่มรวมกลุ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 59 ราย พื้นที่ 709 ไร่
โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาได้เข้ามาส่งเสริมอบรม มอบองค์ความรู้ด้านการผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ให้ได้คุณภาพมาตฐานตามที่กรมการข้าวกำหนด เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวและสามารถต่อรองราคากับท้องตลาดได้ และมีผลดีทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการกลุ่มได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย
เห็นได้ชัดจากเสียงสะท้อนของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการผลิต "เมล็ดพันธุ์ข้าว" ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา เมื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามคำแนะนำของกรมการข้าวทุกขั้นตอน ก็สามารถผลิตข้าวได้คุณภาพมาตรฐาน และปัจจุบันการผลิตเมล็ดพันธุ์ดี มีกฎหมายสำหรับเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อเป็นเครื่องมือในการดูแลชาวนาให้มีโอกาสเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มากขึ้น
นอกจากจะได้ประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นแล้ว หากมีการควบคุมอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ตามที่เหมาะสมกับวิธีปลูกตามที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวแนะนำก็สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวนา ลดการระบาดของโรคแมลงศัตรูข้าว รวมถึงส่งผลต่อรายได้ของชาวนาที่จะมีผลตอบแทนจากผลผลิตข้าวในแปลงนาที่มากขึ้นดังนั้นชาวนาจึงเป็นกำลังสำคัญในการสร้างข้าวไทยให้มีความมั่นคง ยั่งยืน